การติดต่อสื่อสารในโลกศตวรรษที่ 21 ที่พวกเราอยู่นี้ นอกจากจะใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย ใช้งานก็ง่าย พกพาก็สะดวกแล้ว ยังมีอะไรสนุก ๆ ใหม่ ๆ ออกมาให้เราได้ลองใช้กันอยู่เรื่อย ๆ เลยนะครับ วันนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมมารู้จักเทคโนโลยีการสื่อสารที่น่าสนใจอีกเทคโนโลยีหนึ่ง นั่นก็คือเทคโนโลยีโฮโลแกรม (hologram) ครับ โฮโลแกรมที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้ เป็นการสื่อสารทางไกลแบบ 3 มิติ ที่ฝ่ายหนึ่งสามารถส่งภาพ 3 มิติให้มาปรากฏอยู่ที่ปลายทางได้ ซึ่งภาพสามมิติที่ส่งมานี้ผมไม่ได้หมายถึงภาพสามมิติที่ถูกแสดงบนจอคอมพิวเตอร์แบน ๆ อย่างเวลาเราเล่นเกม 3 มิติบนคอมพ์ในปัจจุบันนะครับ แต่หมายถึง ภาพ 3 มิติที่ส่งมาแล้วปรากฏลอยอยู่กลางอากาศ ดูราวกับเป็นคนจริง ๆ หรือสิ่งของจริง ๆ มาลอยอยู่ต่อหน้าต่อตาอย่างนั้นเลยล่ะครับ ซึ่งถ้าใครเคยดูหนังแนววิทยาศาสตร์อย่างเรื่องสตาร์วอร์ส (Star Wars) ก็น่าจะพอนึกภาพออกนะครับว่าเวลาที่เค้าจะสื่อสารทางไกลกันทีนี่ ไม่ใช่มาแต่เสียงหรือภาพบนจอ แต่มีแสงแว้บ ๆ ยิงมาแล้วแสงนั้นก็รวมตัวกันกลายเป็นคนหรือวัตถุ 3 มิติลอยกลางอากาศได้ การสื่อสารลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่จินตนาการในหนังนะครับ คำว่าโฮโลแกรมนี้ถูกพูดถึงกันมากในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างทำให้การทำโฮโลแกรมของจริง แบบที่อยู่ ๆ แสงก็สามารถมารวมตัวกันกลางอากาศเปล่า ๆ กลายเป็นภาพคนสามมิติได้เหมือนอย่างในหนังนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ แต่มนุษย์เราก็ไม่ได้ละความพยายามนะครับ ก็พยายามคิดค้นหาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหานี้หรืออย่างน้อยให้ออกมาใกล้เคียงกับโฮโลแกรมของจริงให้ได้ออกมาอย่างต่อเนื่องครับ อย่างในการถ่ายทอดสดข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น (CNN) ในปี ค.ศ. 2008 ก็มีการใช้แนวคิดโฮโลแกรมนี้ โดยผู้ชมข่าวจะเห็นภาพโฮโลแกรมสามมิติของผู้สื่อข่าวสาวในนครชิคาโกมาปรากฏอยู่ในห้องส่งรายการที่นครนิวยอร์กได้ ซึ่งการถ่ายทอดสดนี้ใช้กล้องถึง 35 ตัวคอยจับภาพผู้สื่อข่าวสาวนี้ในมุมต่าง ๆ แล้วจึงค่อยนำ ภาพนั้นมาซ้อนกับภาพจริงในห้องส่งรายการอีกที สำหรับผู้ชมที่ดูการถ่ายทอดทางโทรทัศน์เทคนิครวมภาพนี้ก็ออกมาดูเป็นโฮโลแกรมที่สมจริงเลยล่ะครับ แม้ว่าจริง ๆ แล้วในห้องส่งที่นิวยอร์กจะไม่ปรากฏโฮโลแกรมอะไรนี้ลอยให้เห็นเลยก็ตาม ถัดมาไม่กี่ปีก็มีอีกตัวอย่างของการสื่อสารโฮโลแกรมที่ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมมากครับ นั่นก็คือที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะมีการจัดคอนเสิร์ตโดยนำเทคโนโลยีที่พยายามเลียนแบบผลของโฮโลแกรม มาฉายภาพตัวการ์ตูน 3 มิติของ ฮะสึเนะ มิกุ (Hatsune Miku) ให้มาปรากฏเป็นนักร้องนำบนเวทีคอนเสิร์ต งานนี้อาศัยการใช้วัตถุโปร่งแสงคล้ายกระจกใสที่มองเห็นได้ยากเป็นฉากวางบนเวที ให้ทำหน้าที่เป็นฉากให้แสงมาตกกระทบและเห็นเป็นรูปภาพได้ ซึ่งคอนเสิร์ตนี้ก็โด่งดังได้รับความนิยมอย่างมากเลยครับ ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบตัวการ์ตูนนี้อยู่แล้วและในกลุ่มคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยี เพราะคอนเสิร์ตนี้ถือเป็นการนำเทคโนโลยีคล้ายโฮโลแกรมมาประยุกต์ใช้ในการจัดคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรก ๆ ของโลกเลยทีเดียว ล่าสุดในปี ค.ศ. 2014 นี้ไมโครซอฟท์บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านไอทีก็ได้เปิดตัวนวัตกรรมที่พวกเขาเรียกว่า โฮโลกราฟ (Holograph) เป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเหมือนโต๊ะทำงานที่มีหน้าจอทัชสกรีนขนาดใหญ่ แต่ที่ไม่ธรรมดาคือภาพ 3 มิติที่ผู้ใช้เห็นบนหน้าจอนี่ล่ะครับ โดยภาพ 3 มิตินี้มีลักษณะใกล้เคียงกับแนวคิดของโฮโลแกรมมาก เพราะไม่ว่าผู้ใช้จะเปลี่ยนมุมยืนไปมองภาพจากจุดไหนรอบโต๊ะก็จะได้เห็นภาพ 3 มิตินั้นในมุมที่เปลี่ยนตามไป เรียกว่าสามารถเดินรอบโต๊ะเพื่อสำรวจส่วนโค้งเว้าของภาพ 3 มิตินั้นได้อย่างละเอียดรอบทิศ 360 องศาเลยล่ะครับ เทคนิคที่ใช้ในนวัตกรรมนี้ก็ค่อนข้างซับซ้อนครับ มีทั้งเทคนิคการสร้างของภาพ 3 มิติหลาย ๆ อย่างและมีการใช้กล้องคิเนค (Kinect) เป็นตัวช่วยคอยจับตำแหน่งที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้เทียบกับตำแหน่งของภาพ 3 มิติด้วย ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านอาจจะฉุกคิดขึ้นมาแล้วก็ได้นะครับ ว่าจริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของโฮโลแกรมนี้มีที่มาจากจินตนาการในภาพยนตร์ แต่ไป ๆ มา ๆ ทำไมตอนนี้กลับกลายเป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เต็มตัวไปเสียแล้ว ในโลกเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดหมุนของพวกเรา จินตนาการก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้หรือความสามารถทางวิทยาศาสตร์เลยนะครับ เพราะถ้าคนเราไม่มีจินตนาการก็จะไม่เกิดการคิดนอกกรอบ ถ้าไม่มีคนคิดนอกกรอบที่จินตนาการฝันไปถึงวิธีที่คนอยู่กันคนละฟากโลกจะสามารถสื่อสารกันได้ง่ายด้วยวิธีที่แค่ปลายนิ้วสัมผัสแล้วล่ะก็ ป่านนี้พวกเราอาจยังต้องใช้นกพิราบสื่อสารส่งจดหมายหากันอยู่เลย แต่ที่พวกเรามีอินเทอร์เน็ต มีสมาร์ทโฟน คุยโทรศัพท์แบบเฟซไทม์กันได้อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะโลกของเรามีคนกลุ่มหนึ่งที่จินตนาการถึงสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา และก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามสรรสร้างจินตนาการเหล่านั้นให้เป็นจริงขึ้นมาให้จงได้นั่นเองครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สื่อสารทางไกล ( โฮโลแกรม ) แบบสตาร์วอร์ส – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related