น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิ.ย.57 อยู่ที่ 5.642 ล้านล้านบาท คิดเป็น 46.60% ของจีดีพี เพิ่มขึ้น 109,415.89 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาโดยเป็นหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 25,385.15 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้น 88,902.24 ล้านบาท ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ลดลง 4,871.50ล้านบาท หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ นั้นไม่มีหนี้คงค้าง อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่หนี้ของรัฐบาลที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มขึ้น 25,800 ล้านบาท เพราะการกู้เงินล่วงหน้า 25,800 ล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรออมทรัพย์ภายใต้ พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะฯ ที่จะครบกำหนดวันที่ 13 ก.ค.57 วงเงิน 30,000 ล้านบาท รวมทั้ง พันธบัตรออมทรัพย์ภายใต้ พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็งครบกำหนดอีก 50,000 ล้านบาท ทำให้วันที่ 13 ก.ค.57 จะมีพันธบัตรครบกำหนดชำระรวม 80,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้น เกิดจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด 1,000 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เบิกจ่ายจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ มากกว่าชำระคืนต้นเงินกู้ 89,934.40 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ 90,000 ล้านบาท และชำระคืนต้นเงินกู้ 65.6 ล้านบาท “สำหรับเงินกู้ล่วงหน้าดังกล่าวจะนำไปให้กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศบริหารลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง ให้เกิดผลตอบแทนและลดต้นทุนในการเตรียมเงินเพื่อระดมทุน” ทั้งนี้ หนี้ต่างประเทศและหนี้ในประเทศ อยู่ที่ 5,642,430.04 ล้านบาท ได้แก่ หนี้ต่างประเทศ 382,072.15 ล้านบาท หรือ 6.77% และหนี้ในประเทศ 5.260 ล้านล้านบาท หรือ 93.23%ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง แบ่งเป็น หนี้ของรัฐบาล 3.933 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1.084 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลค้ำประกัน620,861.22 ล้านบาท และ หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ  3,652.17 ล้านบาท ขณะที่ หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน โดยหนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 1,153.03 ล้านบาท ส่วนหนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 2,075.28 ล้านบาท เนื่องจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพออกพันธบัตร 4,400 ล้านบาท และไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด 3,782 ล้านบาท, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด 1,500 ล้านบาท  และการเคหะแห่งชาติไถ่ถอนพันธบัตรที่ครบกำหนด  1,000 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทยชำระคืนต้นเงินตามสัญญาเงินกู้ที่ครบกำหนด 193.28 ล้านบาท สำหรับส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลค้ำประกัน โดยต่างประเทศลดลงจากเดือนก่อนหน้า 32.16 ล้านบาท เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทลดลง และการเบิกจ่ายและชำระคืนหนี้สกุลเงินต่างๆ ทำให้ยอดหนี้คงค้างในสกุลเงินบาทลดลง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หนี้สาธารณะเดือนมิ.ย.พุ่ง

Posts related