นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯประเมินการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 56 (ต.ค. –ธ.ค.) มีมูลค่า 60,108 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.12% เนื่องจากเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนโดยเฉพาะตลาดสหรัฐที่ยอดการส่งออกไทยไตรมาส 4 น่าจะขยายตัว 9.87% , กลุ่มยุโรป ขยายตัว 9.93% และอาเซียนเดิม 10.87% แต่เมื่อรวมการส่งออกทั้งปีมีมูลค่า 232,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 1.31% ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี ทั้งนี้สาเหตุที่การส่งออกไทยขยายตัวต่ำสุดรอบ 4 ปีเพราะในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี (ม.ค.-ก.ย.) ขยายตัวเพียง 0.05% ซึ่งถือว่าต่ำมากจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกซบเซาในทุกตลาด ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรไทยตกต่ำและประสบปัญหาเรื่องของการแข็งค่าของเงินบาทไทยในช่วงต้นปี “การส่งออกให้ไปตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 4% คงเป็นไปได้ยาก เพราะ 3 เดือนที่เหลือต้องมีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือขยายตัวเฉลี่ยที่ 15% ทุกเดือน ซึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็ไม่เคยเห็นมูลค่าส่งออกไทยพุ่งไปอยู่ในระดับ 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอดีตที่เคยสูงสุดอยู่ในระดับ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ “ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เหลือของปีนี้ ต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักดันตลาดส่งออกอย่างญี่ปุ่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดที่ยังติดลบในไตรมาสที่ 4 สวนทางกับตลาดอื่นที่การส่งออกไทยขยายตัวทั้งหมด เพราะหากแก้จุดนี้ได้ก็จะเป็นประโยชย์ต่อการส่งออกภาพรวมในปี 57 สำหรับปี 57 คาดว่าการส่งออกไทยจะมีมูลค่ารวม 245,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.48% ซึ่งเป็นการประเมินที่ยังไม่รวมปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่ไม่สามารถประเมินได้ว่ารุนแรงอย่างไร แต่หากประท้วงปกติโดยไม่มีการปิดสนามบิน ปิดท่าเรือ และปิดโรงงาน ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยในภาพรวมมากนักเพราะผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าและส่งออกได้ตามปกติ “ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวในปี 57 มาจากการฟื้นตัวของตลาดสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และอาเซียน โดยภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน 80% ของส่งออกรวมจะเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกที่สำคัญเนื่องจากยังสามารถปรับราคาตามต้นทุนได้ โดยเฉพาะรถยนต์และชิ้นส่วนที่ไทยยังเป็นเบอร์ 1 ของอาเซียน รวมถึง คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เกษตรแปรรูป ก็ยังเป็นตัวสำคัญในการสร้างมูลค่าส่งออก” สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ยังน่าเป็นห่วงในปี 57 คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นและจีน ยังไม่ดีนักและทำให้การบริโภคและนำเข้าสินค้าชะลอตัว ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะข้าวที่ยังมีคู่แข่งคอยตัดราคาอย่างเวียดนามและอินเดีย ขณะเดียวกันราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง และอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความผันผวน ซึ่งหากเฟด ลดคิวอี ในช่วงไตรมาสแรกของปี 57 ซึ่งจะผลให้เงินทุนไหลออก แต่ทางศูนย์ฯมีการประเมินค่าเงินบาทในปี 57 เฉลี่ยที่ 30-89-31.22 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แนวโน้มการส่งออกในปี 57 กรมฯ ประเมินว่า มีทิศทางที่ดีขึ้น และมีอัตราการขยายตัวได้ดีกว่าปี 56 เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มดีขึ้น โดยตลาดเป้าหมายที่จะให้ความสำคัญในการผลักดันการส่งออก จะเน้นตลาดอาเซียน อาเซียน+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย) และตลาดที่ไทยทำเอฟทีเอ เช่น ชิลี เปรู ตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และตลาดใหม่อย่างตะวันออกกลาง แอฟริกา สแกนดิเนเวีย และยุโรปตะวันออก “ในวันที่ 11 พ.ย. 56 นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ จะประชุมร่วมกับสมาคมการค้าต่าง ๆ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนผลักดันการส่งออก และกำหนดเป้าหมายการส่งออกในปี 57 ร่วมกัน”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หอการค้าคาดส่งออกโตต่ำสุดในรอบ4ปี

Posts related