นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ประเมินผลกระทบจากกรณีที่ม็อบต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรียกร้องให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทหยุดงานตั้งแต่วันที่ 13-15 พ.ย.นี้ เพื่อร่วมชุมนุมอาจทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเดือนละ 50,000-100,000 ล้านบาท หากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นให้บริการขนส่ง ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ หยุดทำงานทั้งหมด แต่หากการนัดหยุดงานเกิดเฉพาะบริษัทเอกชนที่อยู่ในภาคบริการในระเวลาสั้น ๆ และไม่เกิดเกิดการณ์รุนแรงคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเดือนละ 20,000-30,000 ล้านบาท หรือฉุดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ลง 0.1-0.2% “คาดหวังว่าการชุมนุมจะยุติโดยเร็ว เพราะหากไม่จบ และลากยาวออกไป จะกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และความเชื่อมั่นการลงทุน ทำให้เกิดการระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศทำให้ชะลอตัวลง” นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์การชุมนุมยืดเยื้อถึงสิ้นปีนี้ แต่เป็นไปด้วยความสงบ ประเมินว่าจะสร้างความเสียหายตั้งแต่ 10,000-20,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อจีดีพีของประเทศให้ลดลง 0.2-0.3% หรือจีดีพีโดยรวมปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 3.3-3.5% สำหรับกรณีที่เรียกร้องให้ชะลอการจ่ายภาษีนั้น เบื้องต้นยังประเมินความเสียหายไม่ได้ เพราะกว่าจะถึงรอบการชำระภาษีนิติบุคคลธรรมดาก็จะเป็นช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.57 แต่ถ้าถึงตอนนั้นก็จะทำให้รัฐบาลขาดรายได้บางส่วนในการดำเนินกิจการโครงการต่าง ๆ ได้ แต่ทั้งนี้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เพราะเป็นผลประโยชน์เฉพาะบุคคล จึงต้องพิจารณาให้ดี ด้านนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทราบว่ามีผู้ประกอบการหลายรายประกาศหยุดกิจการเพื่อให้พนักงานที่มีแนวคิดในการต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกไปประท้วง ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก ในกลุ่มภาคใต้และพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากเจ้าของกิจการบางรายต้องการให้พนักงานแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย แต่มีข้อแม้ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง “โรงงานส่วนใหญ่ 90% คงไม่หยุดกิจการ เพื่อให้พนักงานออกไปประท้วง แต่อาจจะเลิกงานเร็วขึ้น หรืออย่างน้อยก็อนุญาตให้ลางานได้ แต่ยอมรับว่าในส่วนของภาคใต้และพื้นที่ธุรกิจในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความตื่นตัวมากในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ล้างแก่ผู้ที่มีคดีการคอร์รัปชั่น” อย่างไรก็ตามเรื่องของ พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนั้น เป็นเรื่องการแสดงความเห็นของแต่ละกลุ่ม ซึ่งในกลุ่มของนักธุรกิจก็มีความเห็นแตกต่างกันไป คือกลุ่มที่อยู่ระดับกลาง ๆ ส่วนใหญ่ก็ออกมาคัดค้านให้ถึงที่สุด, กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลก็จะมองเรื่องของความปรองดองเป็นหลัก และเรื่องของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็มองร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ไปอีกทางหนึ่ง ในส่วนของการเรียกร้องให้ชะลอการจ่ายภาษีนั้น เชื่อว่าคงไม่มีนายจ้างที่อยู่ในระบบกล้าดำเนินการเนื่องจากเป็นการทำความผิดกฎหมายอาญาด้วย โดยในส่วนของนายจ้างก็จะเกี่ยวข้องกับภาษีหัก ณ ที่จ่ายซึ่งมาจากการหักภาษีจากยอดขายและการรับจ้างผลิต, ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น เพราะตรงนี้ต่อให้เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดขั้วก็ไม่กล้าดำเนินการแน่นอน “แม้ช่วงนี้จะมีประชาชนจำนวนมากออกมาคัดค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจนเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่กล้าเข้าไปดำเนินการ แต่หากเหตุการณ์สงบบุคคลที่ชะลอการจ่ายภาษีหรือไม่จ่ายภาษีก็จะถูกปรับและถูกดำเนินคดีแน่นอน อย่างไรก็ตามเอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เจรจาหาข้อยุติเรื่องต่างๆ ลงเพราะยิ่งต่างฝ่ายต่างปล่อยให้เหตุการณ์ลากยาวไปแบบนี้ก็จะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทย”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หอการค้าระบุหยุดงานพร้อมกันสูญเดือนละแสนล้าน

Posts related