หยิบนวัตกรรมจากภาคเอกชนมาเป็นไฮไลต์ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เน้นย้ำการถ่ายทอด ต่อยอดและสามารถนำไปสร้างประโยชน์ สร้างธุรกิจได้จริง กับงานประชุมวิชาการของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประจำปี 2557 หรืองาน NAC 2014 ที่ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี : พลังขับเคลื่อน การพัฒนาที่ยั่งยืน”   ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า สวทช.เห็นว่า ไทยจำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน  ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และชุมชนท้องถิ่น ที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดระบบการวิจัยของประเทศที่เข้มแข็งมากขึ้น มีความเป็นเอกภาพ และมีประสิทธิภาพสูงในการสร้างประโยชน์ให้กับประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะเดียวกันภาคธุรกิจไทยไม่ว่าจะเป็นภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ต้องมีการปรับตัวเพื่อนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ซึ่งงาน NAC 2014 จะเป็นเวทีให้กับนักวิจัยของสวทช.ทั้ง 4 ศูนย์แห่งชาติ คือเนคเทค ไบโอเทค เอ็มเทคและนาโนเทค ได้นำองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ เผยแพร่ถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนรวมถึงประชาชนทั่วไป งานนี้จัดเต็มสัมมนาวิชาการระดม   สมอง แลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญกว่า 50 หัวข้อ โดยเฉพาะหัวข้อการเสวนาพิเศษเรื่อง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : พลังขับเคลื่อน การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมุ่งสะท้อนบทบาทของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีต่อยุทธศาสตร์และทิศทางของประเทศ เรียกง่าย ๆ ว่าหากจะต้องปฏิรูปประเทศ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำคัญและจำเป็นอย่างไร ไฮไลต์ยังอยู่ที่นิทรรศการความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งจากนักวิจัย สวทช. และความร่วมมือกับภาคเอกชน อย่างเช่นสื่อโฆษณาบนล้อมอเตอร์ไซค์ ผลงานจาก บริษัทเวิล์ด มอเตอร์ บริษัทผู้เช่าพื้นที่ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการโฆษณาของไทย  นายสุรพจน์ ฤทธิ์ฉิ้ม ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายออกแบบและพัฒนาของเวิล์ด มอเตอร์ บอกว่า เดิมบริษัททำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์อยู่แล้วทั้งมิเตอร์และระบบติดตามรถ นวัตกรรมใหม่นี้เป็นการสร้างสื่อโฆษณาบนล้อรถซึ่งไม่ซ้ำแบบใคร ใช้เทคโนโลยีหลอดแอลอีดีในการสร้างภาพนิ่งและวิดีโอบนล้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งวิ่งอยู่ตามท้องถนน  ภาพจะเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อวิ่งด้วยความเร็วขั้นต่ำ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเหมาะสำหรับลูกค้าบริษัทสื่อโฆษณาทั้งในและต่างประเทศ ที่น่าสนใจอีกอย่างคือแก้วรูพรุนไล่ยุงและปรับอากาศโดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ เป็นผลงานของบริษัทไทยเทคโนกลาส ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนาโนเทค ในการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษกระจกเหลือใช้ ซึ่งสามารถแปรรูปมาเป็นแก้วรูพรุน น้ำหนักเบา และใช้ดูดซับน้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุงที่มีการพัฒนาสูตรการผลิตให้สามารถปลดปล่อยสารได้อย่างเสถียรและชะลอการระเหยในอากาศได้นานถึง  2 เดือน นอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นนิทาน 3 มิติที่ใช้เทคโนโลยีภาพเสมือนจริง ระบบตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ ผลงานของเนคเทค   ชุดทดสอบคุณภาพน้ำมันปาล์มเคลื่อนที่  ของเอ็มเทค  และการนำเสนอเทคโนโลยีชีวภาพจุลินทรีย์จากไบโอเทค ที่แสดงกระบวนการตั้งแต่การจัดเก็บจุลินทรีย์จากความหลากหลายในธรรมชาติของไทย จัดเก็บในคลังวัสดุชีวภาพ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่มีหลากหลายด้านอย่างเช่นด้านการเกษตร ที่นักวิจัยค้นพบว่าแบคทีเรียบีทีสามารถผลิตโปรตีน VIP ที่สามารถฆ่าแมลงในกลุ่มหนอนผีเสื้อจึงนำมาต่อยอดในการผลิตสารควบคุมแมลงศัตรูพืช   รวมถึงการเปิดบ้านสวทช.ให้ภาคธุรกิจที่สนใจได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและห้องปฏิบัติการทดสอบของ สวทช. รวมถึงบริษัทผู้เช่าและพันธมิตรของ สวทช. ที่พร้อมรับโจทย์และช่วยแก้ปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรม  อยากรู้ว่างานวิจัยไทยก้าวหน้าไปแค่ไหน และจะตอบโจทย์ประเทศได้อย่างไร ดูได้ที่งาน NAC 2014 วันที่ 31 มี.ค.-3 เม.ย.นี้ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (รังสิต)จ.ปทุมธานี. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อวดความก้าวหน้างานวิจัยไทยใน NAC 2014

Posts related