ผ่านมา 2 สัปดาห์แล้ว กับเหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 ริคเตอร์ ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งถือได้ว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี และนับเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศไทย ขนาดสูงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ แน่นอนว่า ทำให้เกิดความเสียหายต่อ เศรษฐกิจ สังคมทันที โดยเฉพาะในแง่ของจิตวิทยา จากการเกิดอาฟเตอร์ช็อกกว่า 800 ครั้ง อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับ 3-5 ริคเตอร์ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ก็ยังมีอาฟเตอร์ช็อก ที่สำคัญแผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้แต่อาคาร สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนเท่านั้น แต่ยังสั่นสะเทือนกระทบไปถึงความมั่นใจของประชาชนทุกภูมิภาคด้วย แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์น่าสลดร้ายแรงเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ตอกย้ำความไม่เชื่อมั่น โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยของอาคาร นั่นคือ การที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า อาคารสูงกว่า 21,078 แห่งทั่วประเทศ มีความเสี่ยงต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวถึง 11,961 แห่ง หรือเกือบครึ่งหนึ่ง โดยอยู่ในต่างจังหวัด 9,117 แห่ง อยู่ใน กทม. 11,961 แห่ง ซึ่งจะต้องเร่งเข้าไปตรวจสอบ และเสริมความแข็งแรงของตัวอาคารทันที ด้วยการเสริมเหล็กไขว้ หรือกำแพงผนังเฉียงอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอาคารสาธารณะต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล วัด สถานบริการต่าง ๆ เป็นอันดับแรก โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว 22 จังหวัด และอาคารเก่าที่สร้างก่อนปี 50 อาคารที่สูงเกิน 10-20 ชั้นขึ้นไป ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมา เราไม่ค่อยตระหนักถึงภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวมากนัก เนื่องจากไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้มองข้ามความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวกันไป ซึ่งการก่อสร้างของอาคารเก่า ที่สูงไม่เกิน 10 ชั้น และที่ก่อสร้างก่อนปี 50 นั้น โครงสร้างยังเป็นคอนกรีต และส่วนใหญ่รองรับแผ่นดินไหวได้เพียง 5 ริคเตอร์เท่านั้น ดังนั้นจึงต้องเข้าไปตรวจสอบว่าโครงสร้างเสียหายหรือไม่ และปรับปรุงแก้ไขทันที สะท้อนได้จากความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่มักเกิดกับวัดวาอาราม โบราณสถาน เพราะโครงสร้างเป็นคอนกรีตแทบทั้งหมด อาคารที่ด้านล่างสุดเปิดโล่ง อาทิ โรงเรียน โรงพยาบาล อาคารสาธารณะต่าง ๆ ที่เกิดความเสียหายหนักที่สุด โดยพบว่าสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในเขตแผ่นดินไหว เสียหายรวม 73 แห่ง มูลค่ากว่า 152.5 ล้านบาท หลายแห่งต้องรื้อถอนทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ โบราณสถานเสียหาย 17 แห่ง ถนนพัง ซึ่งที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติงบประมาณฉุกเฉินในการซ่อมแซมเบื้องต้นไปแล้ว 500 ล้านบาท สอดคล้องกับ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ที่ระบุว่า สมควรที่จะให้อาคารบ้านเรือนทั้งหมดในจ.เชียงราย และจ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ควบคุม และให้วิศวกรเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างอาคารทั้งหมด ไม่ว่าจะสูงกี่ชั้น หรือกระทั่งบ้านชั้นเดียวก็ตาม ว่าสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้มากน้อยเพียงใด พร้อมทั้งให้ปรับปรุง แก้ไข เพื่อให้ตัวอาคารรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรุนแรงได้ถึงระดับ 7 ริคเตอร์ แม้ว่าจะต้องมีต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15-20% ก็ตาม แต่จากการประเมินเบื้องต้น ผลกระทบหนักที่สุด ที่จะเกิดขึ้นในจ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ นั่นคือ ภาคการท่องเที่ยว ที่ต้องสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปมากกว่า 4,600 ล้านบาท หรือ 4.9% ของรายได้ท่องเที่ยวโดยรวมของทั้ง 2 จังหวัดตลอดปีนี้ โดยธุรกิจที่อ่วมสุดคือโรงแรม รีสอร์ท ที่พักต่าง ๆ รวมกว่า 1,160 ล้านบาท จากการที่นักท่องเที่ยว ประชาชนต่างยกเลิกการจองห้องพัก เพราะไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยว่าอาคาร สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ นั้น จะได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด จะถล่มลงมาหรือไม่ ในขณะที่เริ่มเข้าสู่ช่วงนอกเทศกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) เท่ากับว่ามีความเสี่ยงด้านการเข้าพักต่ำกว่าปกติอีกด้วย คาดว่ากว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ก็คงเป็นไตรมาสสุดท้ายที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) โน่นเลยทีเดียว ส่วนธุรกิจการค้าด้าน อื่น ๆ อาจจะกระทบจนต้องปิดร้าน หยุดบริการเพียงช่วง 1-2 วันแรก ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเท่านั้น เมื่อไม่พบความเสียหายใดเพิ่มเติม ก็กลับมาเปิดให้บริการตามเดิมได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำธุรกรรมทางการเงิน การค้าขาย โรงงาน เครื่องจักร ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็ว หากตัวโครงสร้างอาคารไม่ได้เสียหาย ขณะที่ธุรกิจประกันภัย สำหรับกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองภัยธรรมชาติ หรือภัยจากแผ่นดินไหวนั้น ก็ได้รับผลทางด้านบวก ที่จะมีผู้ทำประกันภัยด้านนี้เพิ่มมากขึ้น หลังจากมีประสบการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 54 ที่ผ่านมา แต่ส่วนอาคารต่าง ๆ ภายใน กทม.ที่สูงเกินกว่า 10 ชั้น และสร้างหลังปี 50 นั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับผลกระทบทางโครงสร้างใด ๆ เพราะส่วนใหญ่ ต้องออกแบบและก่อสร้างตามกฎหมายที่มีระบบป้องกันแผ่นดินไหวไว้แล้ว หรือกฎกระทรวงของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารรับแรงแผ่นดินไหวและรายละเอียดโครงสร้าง ที่ มยผ.1301-52 ที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานนานาชาติ อีกทั้งโครงสร้างอาคารเป็นเหล็กกล้า รับแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 7 ริคเตอร์ และกรณีหากเกิดแผ่นดินไหวเกิน 7 ริคเตอร์ขึ้น ก็ยังเกิดความเสียหายน้อย ฟื้นฟูกลับสภาพเดิมได้เร็ว ไม่ต้องทุบทิ้งทั้งอาคาร นั่นจึงทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้เดือดร้อนมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย จึงทำให้ขั้นตอนการก่อสร้างส่วนใหญ่ต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย วัดได้จากแผ่นดินไหวครั้งนี้ อาคารสูงต่าง ๆ จะโยกไหวบ้าง หรือร้ายแรงที่สุดคือ ตัวอาคารแตกร้าวเสียหายได้ แต่จะไม่พังถล่มลงมา แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายบริษัทที่ปรับตัว พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการนำมาตรฐานการรับรองตัวอาคารว่าก่อสร้างตาม มยผ.1301-52 แนบกับโบรชัวร์ขายที่อยู่อาศัย หรือให้พนักงานขายอธิบายถึงระบบการก่อสร้างที่รองรับแผ่นดินไหวด้วย หรือบางแห่งได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น มาช่วยออกแบบตัวอาคารที่รองรับแผ่นดินไหวได้ และชูประเด็นนี้เป็นจุดขายอาคารทันที แม้ว่าจะมีต้นทุนจากการก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 10-20% ก็ตาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า โดยเฉพาะคำแนะนำจากบิ๊กอสังหาริมทรัพย์ ที่ระบุว่า ถ้าจะอยู่คอนโดฯ ให้อยู่ในอาคารที่สูงเกิน 10 ชั้นขึ้นไป รับรองปลอดภัยแน่นอน เพราะโครงสร้างเป็นเหล็กกล้า ซึ่งสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่าพวกอาคารเตี้ย ๆ ไม่เกิน 7-10 ชั้น และจะแน่ใจได้อย่างไรว่าบ้านเดี่ยว 1-2 ชั้นจะไม่เสียหาย หากการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน นี่ต่างหากที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญในการให้อาคารสิ่งปลูกสร้างทุกหลัง ได้รับการก่อสร้างอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน!! นั่นเพราะในมุมมองของผู้ประกอบการเอง เห็นว่าตราบใดที่มนุษย์ยังอยู่ในโลกใบนี้ ก็คงต้องมีที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต เพียงแต่อาจหวั่นวิตก หาทางป้องกันไปตามกระแส ยามน้ำท่วม ก็แห่กันขึ้นหาซื้อที่อยู่อาศัยแนวสูง คอนโดมิเนียม ยามแผ่นดินไหว ก็แห่กันไปซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ เป็นต้น จะหนีไปทางไหนดีกว่ากัน เพราะแม้กระทั่งญี่ปุ่นเอง เป็นประเทศที่มีแผ่นดินไหวแทบทุกวัน แต่ตึกสูงท่วมเมืองเหล่านั้นก็ยังอยู่อาศัยมาได้ หากไม่ใช่เป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงเกิน 9 ริคเตอร์จริง ๆ ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ ภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเราอีกต่อไปแล้ว และภัยจากแผ่นดินไหว ก็ยังเป็นภัยที่ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นตรงไหน เมื่อใด แรงขนาดไหน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ สติ!! และ คุณภาพ!! ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องซื้อบ้านจากนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือก่อสร้างบ้านเอง หากเลือกบริษัทที่มีคุณภาพ ใช้วัสดุที่มีคุณภาพเต็มศักยภาพ ก็จะไว้วางใจได้ระดับหนึ่งว่า สินค้าที่ซื้อมานั้น มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ พอที่จะต้านทานความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าจะต้องเผชิญกับภัยบัติอีก. ณัฐธินี มณีวรรณ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อาคารสูงเมินแผ่นดินไหว เน้นคุณภาพฝ่าตลาดซึม
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs