พูดถึงร้านค้าอีคอมเมิร์ซออนไลน์ เชื่อว่าหนึ่งในชื่อแรก ๆ ที่คุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมคิดถึงน่าจะเป็น อเมซอน.  คอม (Amazon.com) ร้านค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาใช่ไหมครับ อเมซอน ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1994  โดย เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ในวัย 30 ปี (ณ ขณะนั้น) แรกเริ่มเดิมทีก็ขายแต่หนังสือ ก่อนจะขยายกิจการมาจนเป็นอย่างปัจจุบันที่มีขายทั้งเสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนเครื่องอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เรียกว่าเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ค่อนข้างครบวงจรเลยทีเดียว สำหรับตัวผมเอง เวลาจะสั่งซื้อหนังสือต่างประเทศ เว็บแรกที่ผมนึกถึงก็คืออเมซอนนี่ล่ะครับ เพราะมีหนังสือหลากหลาย ข้อมูลแต่ละเล่มก็ครบถ้วน แถมบางทีก็มีตัวอย่างสารบัญและบทแรกของหนังสือเล่มนั้น ๆ ให้ลองอ่านตัดสินใจดูก่อนด้วย แต่ในโลกศตวรรษที่ 21 ที่เป็นโลกแห่งการบูรพาภิวัตน์นี้ ฝั่งตะวันออกของพวกเราเองก็มีการเติบโตและการคิดค้นในด้านต่าง ๆ มากมายในแต่ละวันไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าทางฝั่งตะวันตกเลยครับ ซึ่งก็หมายรวมไปถึงเหล่าร้านค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซด้วย ที่ฝั่งตะวันออกของเราก็มียักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา (Alibaba.com) ที่พอจะขึ้นสังเวียนชกกับอเมซอนได้อย่างสูสี อาลีบาบา ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1999 โดยชายหนุ่มชาวจีนวัย 35 ปี (ณ ขณะนั้น) ชื่อว่า แจ็ค หม่า (Jack Ma) ณ ปัจจุบันอาลี บาบาถือได้ว่าเป็นเว็บไซต์ขายส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ถ้าผมจะพูดว่าอาลีบาบาเป็นเหมือนศูนย์รวมสินค้าจากโรงงานทั้งหมดในจีนที่ต้องการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศก็คงเป็นคำพูดที่ไม่เกินไปครับ หน้าที่ของอาลีบาบา คือ การเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าและเก็บค่าธรรม เนียม ซึ่งก็แปลว่าจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการสต๊อกสินค้าหรือค่าขนส่งโลจิสติกส์แต่อย่างใด อ่านมาจนถึงตรงนี้แล้ว คุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมสงสัยหรือยังครับว่า แล้วตกลง อเมซอนจากถิ่นลุงแซม หรือ อาลีบาบาจากแดนมังกร ใครยิ่งใหญ่กว่ากัน? สำหรับคำตอบของคำถามนี้ผมขออ้างอิงข้อมูลในปีนี้ที่สำรวจโดยบริษัท Smart Intern China ที่เปรียบเทียบข้อมูล   ในแง่มุมต่าง ๆ ของสองบริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของโลกคู่นี้ครับ ประเด็นแรก ถ้าเปรียบเทียบจากจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ อเมซอนชนะครับ เพราะจำนวนผู้เข้าชมเว็บอเมซอนนั้นมากกว่า แม้ว่าจะไม่มากกว่าอาลีบาบาแบบทิ้งห่างก็ตาม ประเด็นที่สอง ถ้าพูดกันถึงจำนวนพนักงาน ทาง อเมซอนยิ่งชนะขาดเลยครับ เพราะจำนวนพนักงานของอเมซอนนั้นมากกว่าอาลีบาบาเกินกว่า 3 เท่า สวนทาง   กับจำนวนประชากรชาวจีนที่มีมากกว่าประชากรชาวอเมริกันเกินกว่า 4 เท่าเลยนะครับ และประเด็นถัดมาที่อเมซอนยังคงเหนือกว่าอาลีบาบาก็คือรายได้  (revenue) ครับ เพราะตัวเลขรายได้รวมของอเมซอนนั้นมากกว่าอาลีบาบามากกว่า 9 เท่าเลยทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าอาลีบาบาจะแพ้อเมซอนไปเสียทุกเรื่องนะครับ ถ้าเปรียบเทียบกันที่อัตราการทำกำไร  (margin) อาลีบาบามีอัตราการทำกำไรสูงถึง  50% ในขณะที่อเมซอนมีเพียงแค่ 0.94% เท่านั้น หรือ ถ้ามองที่ประเด็นของราคาสินค้าที่มีขายอยู่ ณ ตอนนี้สินค้าที่แพงที่สุดของอาลีบาบา คือ กรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีมูลค่าสูงถึง 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ในขณะที่สินค้าที่แพงที่สุดบนอเมซอน คือ คัมภีร์ไบเบิลโบราณ ซึ่งมีมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งก็เรียกว่าน้อยกว่ากันเป็นสิบเท่าเลยครับ ณ วันนี้คงเร็วไปครับหากจะฟันธงผลการต่อสู้ของสองยักษ์ใหญ่แห่งอีคอม เมิร์ซนี้ ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ คงต้องตามดูกันต่อไปว่าสองยักษ์ใหญ่ที่ต่างก็ก่อตั้งขึ้นโดยคนหนุ่มไฟแรงทั้งคู่นี้ฝ่ายไหนจะช่วงชิงความได้เปรียบในตลาดผู้บริโภคออนไลน์    ที่เปิดกว้างนี้ได้มากกว่ากัน ผมเชื่อนะครับว่าในโลกสารสนเทศยุคปัจจุบัน อายุไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับความสำเร็จอีกต่อไปแล้ว คนหนุ่ม ๆ สาว ๆ ไฟแรงที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ ก็สามารถอาศัยบันไดแห่งเศรษฐกิจสร้าง สรรค์บวกกับความพยายามทำให้สามารถก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ได้เป็นเจ้าของนวัตกรรมหรือธุรกิจใหม่ ๆ ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกได้เช่นเดียวกัน. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : อเมซอนแห่งสหรัฐ ปะทะ อาลีบาบาแห่งจีน – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related