คุณผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์วันพุธของผมพอจะจำได้ไหมครับกับเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ หรือ 3D Printing ที่ผมได้เคยแนะนำเอาไว้ ซึ่งตอนนี้บทบาทของเทคโนโลยีนี้ก็เพิ่มมากขึ้นในวงการอุตสาหกรรมหลาย ๆ แขนงไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อแอนิเมชั่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือแม้แต่การออกแบบเสื้อผ้าก็ด้วย วันนี้ผมจะมาอัพเดทย่างก้าวที่สำคัญของเทคโนโลยีนี้ที่ปรากฏในแบรนด์ชุดชั้นในสตรีระดับโลกที่รวมเอาเหล่านางฟ้าที่สาว ๆ ทั้งโลกพากันอิจฉาไว้บนรันเวย์ ใช่ครับผมกำลังจะพูดถึงแบรนด์ชุดชั้นในวิคตอเรีย ซีเคร็ท (Victoriažs Secret) นั่นเอง ในแฟชั่นโชว์ประจำปีของวิคตอเรีย ซีเคร็ท เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 ที่ผ่านมาที่เหล่านางฟ้าของวิคตอเรีย ซีเคร็ท มาสยายปีกประชันโฉมในชุดชั้นในกันบนเวที มีชุดชั้นในหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ของงานชื่อ Snow Queen หรือผมขอแปลเป็นภาษาไทยว่า ราชินีหิมะŽ โดยชุดชั้นในนี้นอกจากจะถูกประดับด้วยคริสตัลเลอค่าจากสวารอฟสกี้ (Swarovski) นับล้านเม็ดแล้วนะครับ ตัวชุดชั้นในส่วนที่เป็นเหมือนเกล็ดหิมะใหญ่น้อยต่อกันเป็นโครงนั้นก็ถูกพิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไม่ใช่การใช้มือประกอบหรือขึ้นรูปอย่างที่เคย ๆ ทำกันมา คุณผู้อ่านบางท่านอาจยังสงสัยนะครับว่าเครื่องพิมพ์เนี่ยนะ จะสามารถพิมพ์ชุดชั้นในหรือสิ่งของออกมาเป็นชิ้น ๆ ได้จริงหรือ? ใช่ครับเครื่องพิมพ์นี่แหละครับ โดยเครื่องพิมพ์ 3 มิติเหล่านี้มีหลักการทำงานที่จะยิงแสงเลเซอร์เข้าไปที่ของเหลวชนิดหนึ่งทำให้เกิดการแข็งตัวเป็นชั้น ๆ โดยยุคแรก ๆ ก็นิยมใช้พอลิเมอร์เหลวเป็นวัสดุแล้วเรียกเทคนิคนี้ว่า Stereolithography (SLA) แต่ต่อมาก็พัฒนาวัสดุมาใช้เป็นพลาสติกแทน โดยการทำให้พลาสติกหลอมเหลวและฉีดลงไปให้เป็นชั้น ๆ เป็นเลเยอร์ (Layer) โดยเรียกเทคนิคนี้ว่า Additive เครื่องพิมพ์ 3 มิติสมัยใหม่นี้จริง ๆ ถือว่าใช้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากนะครับ ในต่างประเทศมีการใช้เครื่องพิมพ์นี้ในวงการแฟชั่นอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่สำหรับกรณีชุดชั้นใน Snow Queen นี้ถือว่าเป็นกรณีที่ซับซ้อนไม่เบาเลยทีเดียว เพราะตัวชุดชั้นในไม่ได้เป็นลักษณะของวัตถุหนา ๆ แข็ง ๆ ขึ้นรูปง่าย ๆ แต่เป็นเกล็ดเป็นโครงบาง ๆ มีส่วนเว้าส่วนโค้ง มีลวดลายใหญ่เล็กมากมาย แถมที่สำคัญคือมันต้องสามารถสวมใส่ได้จริงเสียด้วย โดยกว่าจะขึ้นรูปออกมาได้เป็นชุดชั้นในที่นางแบบใช้ใส่บนรันเวย์นี้ก็ผ่านการปรับจูนตั้งค่าเครื่องพิมพ์กันหลายรอบเลยครับ พิมพ์มาโครงบางไปก็ไม่อยู่เป็นทรง พิมพ์มาโครงหนาไปก็แลดูไม่สวยงาม อันนี้ไม่นับงานส่วนที่ว่าตัวนางแบบเองก็ต้องถูกสแกนด้วยเครื่องสแกน 3 มิติเพื่อจะได้สัดส่วนเป็นแบบจำลอง 3 มิติเอาไปพิมพ์ชุดชั้นในที่ขนาดพอดีตัวอีกนะครับ สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจเครื่องพิมพ์เหล่านี้อยู่ โดยเฉพาะถ้าคุณผู้อ่านพอจะมีความคุ้นเคยกับการสร้างแบบจำลอง 3 มิติด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว การใช้เครื่อง พิมพ์ 3 มิติสมัยนี้ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถเลยครับ แถมราคาเครื่องก็ถูกลงมากมีตั้งแต่หลักหมื่นบาทจนไปถึงหลักหลายแสนบาทขึ้นกับขนาดและความสามารถ ส่วนวัสดุที่จะใช้ขึ้นรูปก็มีได้หลากหลายเลือกซื้อหาได้อย่างสะดวกสบายเลยครับ เช่น พลาสติก เรซิน เซรามิก ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใช่ว่าจะใช้วัสดุอะไรก็ได้นะครับ จำกัดว่าต้องเป็นวัสดุที่เครื่องพิมพ์รองรับเท่านั้น นวัตกรรมการพิมพ์ 3 มิติ แม้จะดูเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องใหม่ แต่จริง ๆ มีประวัติการพัฒนายาวนานกว่า 30 ปีแล้วครับ ผมเองได้เห็นเครื่องพิมพ์ 3 มิติครั้งแรกสมัยเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนตอนเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นเครื่องพิมพ์ชนิดนี้มีราคาสูงมากเลยครับ แต่มาในระยะหลัง ๆ เมื่อราคาเครื่องถูกลง คนทั่วไปสามารถซื้อหามาเล่นได้ ก็มีการนำเครื่องพิมพ์นี้เข้ามาใช้ในระดับครัวเรือนมากขึ้น และผมเชื่อนะครับว่าต่อไปราคาของเครื่องพิมพ์นี้ก็จะยิ่งถูกลงเรื่อย ๆ ตามสไตล์ของอุปกรณ์เทคโนโลยี ถึงตอนนั้นพวกเราคงจะได้เห็นการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลายมากขึ้นแน่นอน ทั้งในองค์กรธุรกิจ ในสถาบันการศึกษา หรือแม้แต่ในครัวเรือนของคุณผู้อ่านเองก็ตาม เห็นไหมครับว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการแข่งขันใช่จะมีแต่เรื่องปวดหัวให้เราต้องคอยเรียนรู้อัพเดทตามอย่างเดียว เรื่องสวย ๆ งาม ๆ เซ็กซี่ ๆ ก็มี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเทคโนโลยีเหล่านี้มันเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคตัวเล็ก ๆ สามารถที่จะคิดและทำอะไร ๆ ด้วยตัวเองได้อย่างอิสระมากขึ้นครับ. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เครื่องพิมพ์ชุดชั้นในเกล็ดหิมะ 3 มิติ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related