นับเป็นเวลา 25 วัน ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มุ่งเดินหน้ายกเครื่องปฏิรูปประเทศให้สมบูรณ์ เข้ารูปเข้ารอยในหนทางที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวทางด้านการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจโดยเฉพาะการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจถือเป็น “โจทย์ใหญ่” กับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และรองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจต้องกลับมาครุ่นคิดว่าจะดำเนินการเช่นไร เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถฟื้นจากที่ขาดทุนกลับมีกำไรได้อย่างยั่งยืน เพราะที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจเปรียบเสมือน “เก้าอี้ดนตรี” ที่ต่างฝ่าย ต่างขั้วเลือกเข้ามาเชยชม ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการบริหารงาน รัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ถือว่ามีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากแต่ละปีมีงบลงทุนหลายแสนล้านบาท หากสามารถกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้ จะมีส่วนเกื้อหนุนให้การลงทุนภาครัฐฟื้นตัวขึ้น แต่ปัญหาของการบริหารจากบุคคลที่ถูกตั้งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานและคณะกรรมการที่กำกับดูแล ล้วนมาจากฝ่ายการเมือง…เพื่อเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์อันมากมายมหาศาล หรือไม่ก็เป็นการ “ต่างตอบแทน” หรือให้ “รางวัล” กับคนใกล้ชิด จนกลายเป็น “สมบัติผลัดกันชม” ส่งผลให้รัฐวิสาหกิจไม่สามารถพัฒนาศักยภาพองค์กร การลงทุนและสร้างผลกำไรได้ดีเท่าที่ควร ***ส่งสัญญาณเตือน แม้ที่ผ่านมา พล.อ.อ.ประจิน ได้ส่งสัญญาณในการประชุมรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ที่มีทั้งประธานและผู้บริหาร ตบเท้าเข้าร่วมอย่างครบถ้วน ว่า “รัฐวิสาหกิจต้องมีการปรับเปลี่ยนกรรมการ โดยกรรมการที่มีเวลาทำงานน้อยควรที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนที่มีเวลามากมาทำงาน และคนมีความสามารถกลับมาทำงานแทนมากขึ้น ส่วนกรรมการคนใดควรจะลาออกนั้นให้อยู่ที่ดุลพินิจของแต่ละคน”  เนื่องจาก คสช.ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความมั่นคง โดยทบทวนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ปรับปรุงให้มีความทันสมัย พัฒนาให้มีระเบียบและมาตรฐาน และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารงานให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และยึดถือประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก แต่ดูเหมือนว่าสัญญาณที่ส่งไป กลับไม่ได้ทำให้บรรดาเหล่าประธานและคณะกรรมการที่ถูกตั้งมาจากฝ่ายการเมืองรู้ร้อนรู้หนาว เพราะจนถึงทุกวันนี้บรรดาบอร์ดทั้งหลายยังคงนั่งเก้าอี้ตัวเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะที่ คสช.ได้พยายามให้ความสำคัญกับการตัดสิทธิประโยชน์ที่ไม่จำเป็นของบรรดากรรมการ เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยเริ่มจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ก่อน เป็นเจ้าแรก ที่ไฟเขียวให้ยกเลิก “ตั๋วฟรี” โดยทันที ***เล็งหั่นสิทธิเพิ่ม ขณะเดียวกัน คสช.ยังสั่งการให้กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เร่งจัดทำข้อมูลผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์ส่วนเกิน ที่คณะกรรมการไม่ควรได้รับ เพื่อนำไปปรับลดต่อไป ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ผลตอบแทนของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ควรเป็นลักษณะเดียวกัน ที่มีทั้งผลตอบแทนเป็นเหมือนเงินเดือนประจำทุกเดือนให้กับคณะกรรมการทุกคน เบี้ยประชุม ค่าเลี้ยงรับรอง แต่ประธานกรรมการ หรือประธานบริหาร มีรถประจำตำแหน่ง คนขับรถ เลขานุการส่วนตัว และห้องทำงาน รวมทั้ง กรรมการทุกคนยังได้โบนัสทุกปี หากรัฐวิสาหกิจนั้นมีกำไร แต่เกิดการ “ลักไก่” จนได้ เพราะรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เลือกใช้วิธีจ่ายผลตอบแทนอื่นให้กับกรรมการ โดยไม่รายงานให้กระทรวงการคลังรับทราบ ทั้งค่าประจำตำแหน่งกรรมการที่ได้สูงถึงเดือนละ 50,000-200,000 บาท ค่าเลี้ยงรับรองเดือนละ 50,000-100,000 บาท พร้อมกับ “ประเคน” บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตให้กรรมการไว้ใช้จ่าย แบบไม่ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน จนเป็นที่มาของคำสั่ง คสช.หากประธานและกรรมการได้ผลประโยชน์ที่นอกเหนือจากผลตอบแทนและโบนัส แต่มีค่าประจำตำแหน่งกรรมการ และค่าเลี้ยงรับรอง ที่สูงกว่าค่าเบี้ยประชุมจะต้องถูกตัดหรือยกเลิกออกไป ***ย้อนมองค่าตอบแทน หน้าที่ “ประธานและกรรมการ” ของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง มีหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อให้รัฐวิสาหกิจนั้น ๆ เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง แต่การที่ฝ่าย “การเมือง” เข้ามาเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง ทำให้การเดินหน้าบริหารรัฐวิสาหกิจต่างต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคมากมาย เพราะถูกแทรกแซงเพื่อหวังผลประโยชน์ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง หรืองานประมูลที่เกิดขึ้น ถือเป็นประโยชน์ใหญ่โตยิ่งกว่า “ค่าตอบแทน” และสามารถสร้างความเสียหายให้กับแต่ละองค์กร ที่ผ่านมา “การเมือง” เข้าไปครอบงำจนเกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น การขาดทุนทั้ง ๆ ที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งน่าจะสร้างผลกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ กลับปรากฏภาวะ “ขาดทุน” อย่างไม่น่าเชื่อ ไล่เรียงดูค่าตอบแทนของรัฐวิสาหกิจ ทั้งคณะกรรมการการบินไทย ได้ค่าตอบแทนเท่ากันเดือนละ 50,000 บาท และเบี้ยประชุมครั้งละ 30,000 บาท โดยประธานได้รับเบี้ยประชุม 25% หรือได้ครั้งละ 37,500 บาท ขณะที่รองประธานได้รับเบี้ยประชุมสูงกว่ากรรมการทั่วไป 12.5% หรือครั้งละ 33,750 บาท กรณีกรรมการบริษัทได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงาน หรือคณะอนุกรรมการ ให้ได้เบี้ยประชุมเพิ่มอีกคนละ 10,000 บาท รวมทั้งสิทธิบินฟรีของกรรมการการบินไทย 10 ใบต่อปี ขณะที่ คณะกรรมการของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  ได้ค่าตอบแทนรายเดือนเดือนละ 30,000 บาท เบี้ยประชุมเฉพาะกรรมการที่เข้าประชุม ครั้งละ 50,000 บาท โดยจำกัดการจ่ายเบี้ยประชุม ไม่เกินปีละ 15 ครั้ง  หรือไม่เกินปีละ 750,000 บาท ส่วนเงินโบนัสคณะกรรมการได้ 0.05% ของกำไรสุทธิประจำปี 57 แต่กำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยคำนวณจ่ายตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง และประธานกรรมการ ปตท. ได้รับสูงกว่ากรรมการ 25% ***แชมป์ส่งเงินเข้าหลวง อย่างไรก็ตามเมื่อหันมาดูผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ 5 อันดับแรก ที่สามารถนำรายได้ส่งรัฐมากสุด ในปี 56 คือ  สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 15,082 ล้านบาท, ธนาคารออมสิน 13,329 ล้านบาท, บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  11,679 ล้านบาท, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 10,135 ล้านบาท และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 9,938 ล้านบาท ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ประสบภาวะขั้นวิกฤติเกี่ยวกับการบริหารงานที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และมีค่าใช้จ่ายภาระหนี้สินจำนวนมาก 5 อันดับแรก ประกอบด้วย  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), การบินไทย, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ องค์การคลังสินค้า ทั้งหลายทั้งปวงจากนี้ คงต้องรอผลการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจจากนี้ว่าทุกอย่างจะเป็นผลสำเร็จอย่างที่หัวหน้า คสช.ตั้งใจได้หรือไม่ โดยเฉพาะการขุดรากถอนโคนบรรดาเส้นสายของนักการเมือง ก่อนทุกอย่างจะสายเกินแก้ เพราะทุกวันนี้หนี้รัฐวิสาหกิจรวมกันแล้วกว่า 1.62 ล้านล้านบาท…หากไม่เร่งฟื้นฟูผลจากการเป็นหนี้หรือขาดทุนให้กลับมามีกำไร สุดท้ายภาระก็จะตกอยู่กับผู้เสียภาษีทั้งประเทศนั่นเอง!. วุฒิชัย มั่งคั่ง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เดินหน้ายกเครื่องรัฐวิสาหกิจ เร่งขันนอตเพิ่มประสิทธิภาพ

Posts related