เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ

หลังจากที่เราได้เห็น ข้อดี และข้อเสีย ของการทำ ธุรกิจแฟรนไชส์ ไปแล้ว และคุณคิดว่าการซื้อแฟรนไชส์นั้น มีสิ่งที่ได้มากกว่าเสีย คุณก็คงจะอยากรู้ว่า ถ้าจะร่วมหัวจมท้ายกับธุรกิจแฟรนไชส์ซักแห่งหนึ่ง ธุรกิจนั้นควรจะมีลักษณะที่พึงประสงค์อย่างไรบ้าง

โดยสิ่งที่ชี้ชัดว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เรากำลังพิจารณาอยู่นั้น ดีหรือไม่ดี มีอยู่ 5 อย่าง ดังนี้

1. เจ้าของแฟรนไชส์

เจ้าของแฟรนไชส์ มีบทบาทสำคัญ ต่อความสำเร็จของคุณ เมื่อคุณซื้อแฟรนไชส์จากเค้า เพราะเค้าจะเป็นคนบอกวิธีการทำธุรกิจ วิธีการบริหารจัดการทุกอย่างให้กับคุณ

ถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ มองแต่ผลกำไรของตัวเองเป็นที่ตั้ง โดยไม่สนใจว่าคนซื้อแฟรนไชส์ จะอยู่ได้หรือไม่ นั่นเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

2. สินค้าตามกระแสหรือเปล่า

สินค้าของแฟรนไชส์ที่คุณจะซื้อ ควรจะเป็นสินค้าที่ไม่ตกกระแสง่ายๆ ไม่ใช่เป็นสินค้าตามแฟชั่น ตามกระแส เพราะไม่นานกระแสต่างๆ เหล่านี้ก็จะเลิก และเลิกไปพร้อมกับธุรกิจ คนที่เข้ามาลงทุนในสินค้านี้ทีหลังก็เจ๊งไปตามๆกัน

สินค้าแฟชั่น ที่เห็นได้ชัดที่สุด และใกล้ตัวที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้มีขายแฟรนไชส์ คือ Rotiboy ที่โด่งดังสุดขีดช่วงปี 2548 แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน พอคนเลิกฮิตก็เลิกกิจการไป ส่วนอีกอย่างหนึ่ง คือ  จตุคามรามเทพ ที่เป็นที่นิยมมากในช่วงปี 2550 แต่ก็ฮิตได้ไม่นานเช่นกัน

3. การสนับสนุนจากแฟรนไชส์ครบถ้วนหรือไม่

เจ้าของแฟรนไชส์หลายต่อหลายแห่ง เลือกที่จะสนับสนุนคนซื้อแฟรนไชส์เฉพาะการเริ่มต้นธุรกิจ อาจจะแค่ช่วยเลือกทำเล ช่วยหาพนักงาน และช่วยวางระบบการทำงานเบื้องต้น

แต่ไม่มีการติดตามผล หลังจากที่มีการขายแฟรนไชส์ไปแล้ว บางส่วนมองว่าขายแล้วคือขายเลย ขายขาด คนซื้อแฟรนไชส์จะเป็นยังไงก็ไม่เกี่ยวกับตัวเองแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ขายแฟรนไชส์ไปแล้ว ก็ไม่รับรู้

4. อย่าเชื่อคำโฆษณาเรื่องคืนทุน

เจ้าของแฟรนไชส์หลายต่อหลายแห่ง มักจะมีคำโฆษณาเกี่ยวกับเรื่อง ระยะเวลาในการคืนทุน หลังจากได้ทำธุรกิจไปแล้ว ซึ่งบางครั้งอาจจะดูดีเกินความเป็นจริงเพราะปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ไม่ได้มีแค่ ตราสินค้า และวิธีการทำธุรกิจเท่านั้น

ยังมีเรื่องของ ทำเล เรื่องของพนักงาน และรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่ทำให้คนซื้อแฟรนไชส์ไปแต่ละคน ได้กำไรไม่เท่ากัน บางคนอาจจะกำไรมหาศาล และบางคนอาจจะขาดทุนจนต้องเลิกกิจการไปก็ได้

5. ต้องใช้เงินลงทุนเยอะหรือไม่

หลายคนอาจจะเคยได้ยินสุภาษิตไทยที่ว่า “นกน้อยทำรังแต่พอตัว” ซึ่งหมายถึงว่าอย่าทำอะไรที่เกินตัว เกินความสามารถของตน ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณมีเงินไม่พอที่จะซื้อแฟรนไชส์ได้ แล้วคุณต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจากธนาคาร หรือเพื่อนฝูง

คุณต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ธุรกิจคุณตั้งอยู่บนความเสี่ยงที่ไม่ได้มีแค่คุณคนเดียวที่จะเสียหาย ยังมีเจ้าหนี้ของคุณที่จะต้องมาเสียหายไปกับคุณด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ ก็ควรจะเลือกทำธุรกิจที่เหมาะสมกับตัวเรา และค่อยๆขยายธุรกิจภายหลังก็ยังไม่สาย

ธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ ในปัจจุบัน

จากที่ธนาคารกสิกรไทย ได้จัดงาน KSME & Franchise Expo เมื่อวันที่ 23-24 กรกฏาคม 2555 ที่ Central World Plaza ก็มี ธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ อยู่ 5 ธุรกิจ โดยในส่วนนี้ จะนำเสนอข้อมูลเจาะลึก จุดขายและความเสี่ยงของแต่ละแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. Daiso

Daiso เป็นแฟรนไชส์ขนาดใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นที่ เห็นตามศูนย์การค้าใหญ่ๆ หลายแห่ง และแบบ Stan Alone ตาม Community Mall ต่างๆ  Daiso โดดเด่นด้วยสินค้าที่หลากหลายถึง 55,000 รายการ  และคุณมีสิทธิเลือกว่าจะรับสินค้าใดเข้ามาในร้านบ้าง

จุดขายที่สำคัญของ Daiso คือ สินค้าทั้งร้านที่มีราคาถูกและราคาเดียวเพียง 60 บาทเท่านั้น หากคุณสนใจทำธุรกิจกับ Daiso ก็สามารถติดต่อได้ที่ 02-138-9610

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก www.daisothailand.com ซึ่งทางเจ้าของแฟรนไชส์ มีสนันสนุนอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งบริการออกแบบ ตกแต่งร้านและติดตั้งระบบการรับจ่ายเงินทางแคชเชียร์ด้วย

จุดขายของแฟรนไชส์: Daiso เป็นแบรนด์ที่จากญี่ปุ่นที่คนรู้จักกันอยู่แล้ว ทำให้ลูกค้าสามารถเกิดความเชื่อถือในตัวผลิตภัณฑ์ โดยที่ไม่ต้องอาศัยการพิสูจน์เพิ่มเติม และเหมาะสำหรับผู้ต้องการลงทุนแบบได้ระบบการทำงานทั้งระบบ ไม่ต้องมาจัดระบบเอง

ความเสี่ยงของแฟรนไชส์: เพราะ Daiso เป็นแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง และมีการควบคุมมาตรฐานี่สูง ทำให้สามารถเปิดได้ในศูนย์การค้าเท่านั้น รวมถึงเงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์นี้เหมาะกับผู้ที่มีเงินทุนค่อนข้างพร้อม

ค่าแฟรนไชส์: เงินลงทุนประมาณ 4,400,000 บาท แบ่งเป็น

– ค่าแฟรนไชส์ 450,000 บาท (อายุสัญญา 5 ปี)

– ค่ามัดจำสินค้า 450,000 บาท

– ค่าออกแบบ 150,000 บาท

– ค่าตกแต่งร้าน 150,000 บาท

– ค่าติดตั้งระบบแคชเชียร์ 100,000 บาท

ต้นทุนสินค้า: 43 บาท ต่อชิ้น

ราคาขาย: 60 บาท ต่อชิ้น

2. สะเต๊ะยิ้มสยาม

สะเต๊ะ ยิ้มสยาม มีขายสินค้าที่เกี่ยวกับสะเต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นหมูสะเต๊ะ ปลาสะเต๊ะ และกุ้งสะเต๊ะ รวมถึงเมนูที่ใหม่ที่เป็นแบบ Fusion โดยทำเป็นอาหารจากหลักดัง คือ ข้าวมันสะเต๊ะ ก๋วยเตี๋ยวสะเต๊ะ หรือแม้แต่โรตีสะเต๊ะ

โดยผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถเลือกเปิด แบบบูธขาย หรือเลือกแบบเป็นร้านนั่งทานก็ยังได้ ซึ่งเจ้าของแฟรนไชส์บอกว่า ขณะนี้กำลังมีขยายแฟรนไชส์ออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

หากคุณสนใจที่จะซื้อ แฟรนไชส์สะเต๊ะยิ้มสยาม สามารถหาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.satayyimsiam.com หรือเบอร์โทรศัพท์ 02-996-4461

จุดขายของแฟรนไชส์: รสชาติอร่อย ซึ่งเห็นได้จากรางวัลที่ได้รับ และการออกสื่อ ง่ายแก่การควบคุมสต๊อก เพราะสะเต๊ะที่รับมาสามารถเก็บได้ 6 เดือน ซึ่งปรุงสำเร็จได้ โดยไม่ต้องจ้างพ่อครัวแต่อย่างใด

ความเสี่ยงของแฟรนไชส์: แฟรนไชส์อาจยังไม่เป็นที่รู้จัก เพราะสาขาที่ยังน้อย เจ้าของแฟรนไชส์อาจจะต้องใช้พลังในการโปรโมทเพิ่มอีกหน่อย อีกเรื่องคือ ราคาขายที่ค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับท้องตลาด

ค่าแฟรนไชส์:

– แบบบูธ 46,000 – 69,000 บาท

– แบบร้านนั่ง 120,000 – 180,000 บาท

ต้นทุนสินค้า: หมู 3 บาท ต่อไม้, ปลา 8 บาท ต่อไม้ และกุ้ง 10 บาท ต่อไม้

ราคาขาย: หมู 7.5 บาท ต่อไม้, ปลา 13 บาท ต่อไม้ และกุ้ง 13 บาท ต่อไม้

3. ร้านยา Fascino

แม้ว่าคุณจะไม่ได้เรียนมาเพื่อเป็นเภสัชกร แต่โอกาสที่จะเป็นเจ้าของร้านขายยาไม่ได้เป็นเรื่องยากอีกต่อไป เพราะวันนี้ คุณสามารถซื้อแฟรนไชส์ของ ร้านยา Fascino ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แล้ว

ความสะดวก และความน่าเชื่อถือ ที่ลูกค้าได้รับจาก ร้านยา Fascino ซึ่งมีเภสัชกรจริงๆ อยู่ประจำร้าน ย่อมสูงกว่า ร้านหมอตี๋หน้าปากซอยบ้านคุณ ที่อาจจะจัดยาผิดๆ ถูกๆ ให้กับคุณก็ได้

นอกจากนี้เจ้าของแฟรนไชส์ยังให้การสนับสนุน ตั้งแต่เริ่มหาทำเล จนถึงมีการฝึกอบรมการบริหารร้าน และการทำการตลาดด้วย หากคุณสนใจซื้อแฟรนไชส์ ร้านยา Fascino ติดต่อได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-411-4455 และในเว็บไซต์ www.fascino.co.th

จุดขายของแฟรนไชส์: Fascino มีแบรนด์ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ทำให้แฟรนไชส์นี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว ที่ต้องการผลกำไรที่สม่ำเสมอมั่นคง

ความเสี่ยงของแฟรนไชส์: คู่แข่งมาก หากลูกค้าตัดสินใจจากราคาโดยไม่สนใจเรื่องคุณภาพยาว่า เก่าไปหรือเปล่า ยาของจริงหรือไม่ คุณก็ไม่สามารถสู้ได้ หากเกิดสงครามราคาขึ้น

ค่าแฟรนไชส์:

– งบลงทุนทำร้าน 2,000,000 – 3,000,000 ล้านบาท

– ค่าแฟรนไชส์ 600,000 บาท

– ค่าแบรนด์รอยัลตี้ และค่าการตลาด รวมกัน 5% ต่อเดือน

อัตราผลกำไร: 25-30%

4. Winsent

Winsent เป็นธุรกิจศูนย์เอกสารครบวงจร เป็นการรวมเอางานถ่ายเอกสาร งานถ่ายรูปด่วน ศูนย์เติมหมึกพิมพ์ งานทำการ์ดให้กับงานต่างๆ และบริการอื่นๆ ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าได้มากขึ้น

ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก จากความสำเร็จของจำนวนสาขาแฟรนไชส์ที่มากถึง 270 สาขาทั่วประเทศ และก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำด้านศูนย์เอกสารครบวงจร ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนซื้อแฟรนไชส์เป็นอย่างมาก

การนำหลายๆ บริการมารวมกันทำให้ประหยัดต้นทุน เพราะหลายบริการสามารถใช้อุปกรณ์ชิ้นเดียวกันได้ อีกทั้งประหยัดพื้นที่ และไม่ต้องสต๊อกสินค้า

Winsent ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบ GPSMS ซึ่งเป็นการส่ง SMS แจ้งกลับให้ผู้ใช้บริการทราบ เมื่อพัสดุส่งถึงปลายทางเรียบร้อย

หากคุณสนใจซื้อแฟรนไชส์ Winsent สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-732-9846 หรือที่เว็บไซต์ www.winsent.com

จุดขายของแฟรนไชส์: งานบริการที่มีความหลากหลาย มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมาก ใช้เงินลงทุนต่ำ เพราะคุณสามารถเลือกได้ว่าจะให้มีบริการใดบ้าง และถึงแม้ว่ามีงานบริการหลายประเภทแต่ใช้พนักงานแค่ 2-3 คนในร้านก็เพียงพอแล้ว

ความเสี่ยงของแฟรนไชส์: ราคาค่าบริการบางอย่างนั้นสูงกว่าบริการอย่างของคู่แข่ง อาจจะจับกลุ่มลูกค้าระดับบน และองค์กรธุรกิจที่ต้องการความเร็วและคุณภาพของการบริการ

ค่าแฟรนไชส์: งบลงทุนประมาณ 195,000 – 450,000 บาท

อัตราผลกำไร: ขึ้นอยู่กับประเภทบริการ โดยอยู่ที่ประมาณ 35-59%

5. EZ’s German Sausage

EZ’s เป็นผู้จัดจำหน่ายไส้กรอกเยอรมันเกรดพรีเมี่ยม ผลิตจากเนื้อหมูล้วนๆ โดยกระบวนการผลิตที่ดี และได้มาตรฐานท ำให้แบรนด์ EZ’s ได้รับรางวัล Thailand Franchise Quality Award 2011 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

หากคุณกำลังมองหา ธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ ในสไตล์ร้านอาหารตะวันตก ที่มีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ ติดต่อได้ที่ www.ezssausage.com หรือเบอร์โทรศัพท์ 02-538-1925 ได้เลย

จุดขายของแฟรนไชส์: มีรางวัลการันตีคุณภาพของไส้กรอกเนื้อหมูล้วนที่นำเข้าจากประเทศเยอรมัน และราคาที่ไม่แพงจนเกินกำลังซื้อของลูกค้า

ความเสี่ยงชองแฟรนไชส์: ค่าเช่าพื้นที่สูง เพราะต้องเปิดในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ หรือศูนย์อาหารต่างๆ ทำให้อาจต้องเสียค่าเช่าที่สูง อาจจะทำให้กำไรลดลง

ค่าแฟรนไชส์:

– Morgen by EZ’s ใช้งบการลงทุนประมาณ 2,500,000 – 3,000,000 บาท (พื้นที่ 70-100 ตารางเมตร และสัญญา 5+5 ปี)
– Ezy Kitchen ใช้งบการลงทุนประมาณ 100,000 – 200,000 บาท (พื้นที่ 3X5 เมตร และสัญญา 2+2 ปี)

ต้นทุนสินค้า: ขึ้นอยู่กับสินค้า โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 50% ของราคา

ราคาขายปลีก: ขึ้นอยู่กับสินค้า

Posts related