การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติเพราะเท่ากับเป็นการรวมตัวของตลาดขนาดใหญ่ถึง 600 ล้านคน ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้กับคนค้าคนขายและทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นเพื่อรองรับกับกระแสการค้าโลกที่กำลังพุ่งเป้ามาอยู่ที่ซีกโลกตะวันออก  ขณะเดียวกันในเรื่องของประสิทธิภาพโลจิสติกส์ ก็ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับชาติอาเซียน ซึ่ง “ดร.สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกกับ ’เดลินิวส์“ ว่า ธนาคารโลกได้จัดทำดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นการสำรวจประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของแต่ละประเทศ แล้วนำมาพัฒนาเป็นดัชนีวัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ด้วยการประเมินประสิทธิภาพของบริษัทที่ทำการขนส่งสินค้าและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำพิธีการนำเข้าและส่งออกที่ครอบคลุม 155 ประเทศ ตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมโลจิสติกส์ ทั้ง 6 ด้าน คือ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานพิธีการต่าง ๆ ของศุลกากร, คุณภาพในด้านการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐาน, ความง่ายในการขนส่งระหว่างประเทศ, ปัจจัยด้านความสามารถของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ภายในประเทศ, ความสามารถในการสืบค้นสินค้าระหว่างมีการขนส่งทางเรือ และการส่งสินค้าถึงที่หมายตรงเวลา  ทั้งนี้จากผลการสำรวจทั้งหมดธนาคารโลกได้ให้คะแนน “สิงคโปร์” เป็นอันดับ 1 โดยได้รับ 4.13 คะแนนจาก 5 คะแนน เพราะเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ดีที่สุดในโลก โดยมีจุดเด่นที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดีมาก และยังมีการส่งมอบสินค้าที่รวดเร็วตรงต่อเวลา ขณะเดียวกันสิงคโปร์ยังมีการวางแผนที่ดี มีการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการโลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามสินค้าที่ผ่านประเทศสิงคโปร์จะเป็นการส่งผ่านหรือทรานชิปเม้นท์ มากกว่าเป็นสินค้าจากแหล่งผลิตหรือแหล่งบริโภคสินค้า ด้วยพื้นที่ที่จำกัดจึงจำเป็นต้องมีการออกแบบให้สินค้าหมุนเวียนได้รวดเร็ว แม่นยำ และตรงต่อเวลา ไม่สามารถเก็บสินค้าไว้ในพื้นที่จัดเก็บได้เป็นเวลานาน  ดร.สถาพร บอกด้วยว่า สำหรับชาติอาเซียนที่มีระบบโลจิสติกส์ดีเป็นอันดับสอง คือ มาเลเซีย ได้คะแนน 3.49 และไทย เป็นอันดับ 3 ได้คะแนน 3.18 คะแนน เพราะทั้งสองประเทศนี้เป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญของโลกได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ยางพารา ดังนั้นจะมีการนำวัตถุดิบจากแหล่งวัตถุดิบทั้งในและนอกประเทศ ไปทำการผลิตเพื่อใช้ในประเทศและทำการส่งออก การวางแผนการผลิตต้องทำการวางแผนทั้งโซ่อุปทาน เพื่อให้การผลิตและการกระจายสินค้าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์เข้ามามีบทบาทในการบริหารโซ่อุปทาน  ดังนั้นการบริหารโลจิสติกส์ที่ดีและมีประสิทธิภาพจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งสองประเทศนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพิธีการศุลกากร ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน คุณภาพของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ รวมทั้งการติดตามสืบค้นสินค้าระหว่างการผลิตและขนส่ง ซึ่งไทยต้องมีการพัฒนาการขนส่งทางรางและทางน้ำให้มากขึ้นเพื่อให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการขนส่งสินค้านอกจากทางถนนที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย   ส่วนฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ธนาคารโลกได้ประเมินดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ลดหลั่นกันลงมา คือ 3.02, 3, และ 2.94 คะแนน ตามลำดับ  โดยสามประเทศนี้มีความได้เปรียบจากการขนส่งทางน้ำที่สามารถขนส่งวัตถุดิบและสินค้าได้ตลอดทั่วประเทศ รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างประเทศทางน้ำได้สะดวก แต่ด้วยข้อจำกัดทางภูมิประเทศของอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ที่เป็นหมู่เกาะ ทำให้การขนส่งสินค้าทางถนนหรือทางรางทำได้ไม่สะดวก การขนส่งจากต้นทางถึงจุดหมายปลายทางแบบดอร์ทูดอร์ทั่วประเทศยุ่งยาก ต้องเสียเวลาและต้นทุนในการขนถ่ายสินค้าผ่านทางน้ำ การรวบรวมและกระจายสินค้าทำได้เฉพาะในพื้นที่เกาะขนาดใหญ่เท่านั้น ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์สูง ในขณะที่เวียดนามมีสภาพถนนหนทางยังไม่ได้มาตรฐานสากล จำเป็นต้องมีการพัฒนาถนนให้ดี สินค้าส่วนใหญ่ที่ทำการขนส่งทางน้ำจะเป็นสินค้าเกษตรหรือเทกองที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ และระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการจัดการโลจิสติกส์ยังล้าสมัย สำหรับกัมพูชา สปป.ลาว และพม่า มีดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ที่ 2.56, 2.5, และ 2.37 คะแนน ตามลำดับเช่นกัน โดยพม่าและลาวตอนบนมีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงส่งผลให้การขนส่งทางถนนเป็นไปด้วยความลำบาก เส้นทางคดเคี้ยวและอันตราย นอกจากนี้ลาวไม่มีทางติดต่อทางทะเลต้องอาศัยประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่กัมพูชามีการวางผังเมืองจากประเทศฝรั่งเศสในอดีต แต่ได้หยุดการพัฒนาสาธารณูปโภคจากสงครามในประเทศ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงระบบราชการที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ  ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งและกระจายสินค้าสูง และใช้เวลาการขนส่งนาน  ดร.สถาพร ทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ในเมื่อระบบโลจิสติกส์ถือว่าเป็นหัวใจในการทำการค้าการขาย ดังนั้นผู้ประกอบการที่จะตัดสินใจเข้าไปคว้าโอกาสไปแบ่งเค้กในการเป็นเออีซี ก็ต้องศึกษาและเตรียมตัวให้พร้อมด้วยเช่นกันเพื่อให้สินค้าของตัวเองมีที่ยืนในเวทีเออีซีอย่างแข็งแกร่ง!   มาริสา ช่อกระถิน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เผยความพร้อมโลจิสติกส์ชาติอาเซียน – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related