ปีการศึกษาใหม่จะเริ่มแล้วนะครับ ปีนี้มหาวิทยาลัยเลื่อนการเปิดเทอมออกไปสามเดือนจากเดิม เพื่อปรับตัวเข้ากับการเปิดรับ  AEC (ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ) ผมเองหยุดสอนประจำไปเสียหกเดือน หวังว่าสนิมคงไม่กัดกร่อนจนทักษะการสอนฝืดเคืองไปเสียหมด พูดเรื่องการเรียนคอมพิวเตอร์ สังคมเริ่มมีคำถามที่น่าสนใจเช่นที่จั่วหัวเรื่องไว้ ว่าเรียนจบ (ป.ตรี )  ด้านคอมพิวเตอร์มาแล้ว ทำไมจึงไปทำงานเขียนโปรแกรมไม่ได้ บ้างก็ว่าผู้สอน สอนมาไม่ดี บ้างก็ว่า หลักสูตรไม่ตรงกับที่ผู้ประกอบการต้องการใช้ ผู้ประกอบการก็มีความรู้สึกว่า ในขณะที่ตลาดไอทีขายดี ณ ปัจจุบัน การหาแรงงานคอมพิวเตอร์ ทำไมช่างยากเย็นเหลือเกิน สัมภาษณ์คนสมัครมาเยอะแยะ ก็ไม่สามารถจ้างงานได้พอ มีตัวเลขจากกระทรวงศึกษาธิการ (หาเอกสารอ้างไม่พบ)  ว่า เรียนคอมพิวเตอร์ จบปริญญาตรีแล้ว ตกงานจำนวนมาก มากกว่าเรียนสาขาอื่น ดูอะไร ๆ มันขัดแย้งกันไปเสียหมด บทความตอนนี้ ผมขอเสนอการนิยามปัญหาข้างต้น จะพยายามอธิบายสาเหตุจากความเข้าใจของผู้ที่สอนในมหาวิทยาลัยมานมนานและเสนอทางแก้ไขโดยสังเขป งานทางคอมพิวเตอร์มีหลายด้านนะครับ เช่น พัฒนาซอฟต์แวร์ ดูแลระบบ ออกแบบ ติดตั้ง ซ่อมบำรุง โครงสร้างพื้นฐาน เช่น เครือข่ายคอมพิวเตอร์ คลังข้อมูล รวมไปถึงงานช่วยเหลือแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่แค่เขียนโปรแกรมอย่างเดียว ผมขอเสนอปัญหาจากมุมมองของผู้ประกอบการก็แล้วกัน เพราะจะทำให้เห็นเป้าหมายร่วมกันได้ ประการแรก ผู้ประกอบการมีความต้องการจ้างคนทำงานคอมพิวเตอร์ แต่จ้างคนได้ไม่เพียงพอ ถึงมีคนจบ ป.ตรีคอมพิวเตอร์มาเยอะ แต่ทักษะไม่พอทำงาน สาเหตุนี้ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยไปไม่ถึงตลาดโลก เพราะมีคนไม่เพียงพอที่จะทำงานใหญ่ ประการที่สอง ไอทีมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เช่น ปัจจุบันบริการไอทีต่าง ๆ หนีไปอยู่บนก้อนเมฆแล้ว (Cloud Services) คนของเราปรับตัวช้า เรียนรู้ของใหม่ด้วยตนเองไม่ทัน (ผมขอเน้นนะครับ “ด้วยตนเอง”)ขอกำหนดขอบเขตปัญหาที่จะมาพูดกันแค่นี้นะครับ สาเหตุที่คนเรียนจบป.ตรี “คอมพิวเตอร์” (มีหลากหลายหลักสูตร) แล้วไม่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้ง ๆ ที่มีความต้องการสูง สาเหตุใหญ่เนื่องมาจากทักษะไม่เพียงพอครับ งานคอมพิวเตอร์ เป็นงานที่ใช้ทักษะมาก ท่านอาจจะแปลกใจ ผมยกตัวอย่าง เช่น การลงซอฟต์แวร์ในเครื่อง (เช่น ลงวินโดว์สในเครื่องโน้ตบุ๊ก) การแก้ปัญหา ลำโพงเสียงไม่ดัง เมื่ออัพเดทซอฟต์แวร์ไปแล้ว การติดตั้งเครื่องพิมพ์ที่เพิ่งซื้อมาใหม่ ตัวอย่างที่ยกมาเป็นงานพื้น ๆ เจอแทบทุกวันในสถานประกอบการ ยังมีทักษะที่เจาะจง เช่น การเขียนโปรแกรมด้วยเครื่องมือต่าง ๆ การตรวจสอบและทดสอบโปรแกรมก่อนส่งให้ลูกค้า ผมขอแจงสาเหตุที่ทักษะไม่พอดังนี้ 1.  เมื่อเป็นงานทักษะ สภาพการเรียนการสอนที่เหมาะสม จะต่างจากหลักสูตร ป.ตรี “คอมพิวเตอร์” ในปัจจุบัน เพราะต้องมี “โปรเจคท์” ให้ผู้เรียนฝึกหัดทักษะโดยสม่ำเสมอ ให้เก่งขึ้นตามลำดับ 2. งานทักษะ ต้องการ “ครู” จับมือสอน ถ้าไม่มีครู ก็ผลิต “แรงงาน” ยาก การผลิตแรงงานจำนวนมาก (เช่นที่เราพยายามทำอยู่ในปัจจุบัน) ให้ได้คุณภาพจึงต้องใช้วิธีการที่แตกต่างไปจากการเอาครูมาบรรยายหน้าชั้นเรียน 3. การเรียนคอมพิวเตอร์ ต้องใช้ความรู้พื้นฐาน เรื่องตรรกะและคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ว่าทุกคนที่อยากเรียนคอมพิวเตอร์จะถนัด ปัญหาของผู้เรียนไม่เก่ง มักจะมาจาก พื้นฐานความรู้อ่อนแอจนไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ต้องเรียนได้ 4. งานด้านนี้ ต้องหาความรู้เองเยอะ เพราะของใหม่มาทุกวัน เทคโนโลยีใหม่ ภาษาคอมพิวเตอร์ใหม่ วิธีใช้แบบใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่ทางสังคม (เช่น เฟซบุ๊ก) ทักษะที่จำเป็น คือ ภาษาอังกฤษ ต้องคล่อง อย่างน้อยต้องอ่านเก่ง เข้าใจได้เร็ว 5. ทักษะอีกอย่างที่จำเป็นคือเรียนรู้ไว แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเก่ง งานทำโปรแกรม เป็นงานหยุมหยิม งานละเอียดเยอะ ผู้เรียนส่วนใหญ่ “ผิดคาด” ส่วนการ  “ผิดคาด” นั้น จะผิดคาดอย่างไร อาทิตย์หน้าผมจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ. ศ.ดร.ประภาส จงสถิตวัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เรียนจบคอมพ์แล้วเขียนโปรแกรมไม่ได้ (1) – 1001

Posts related