หลังจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่รายงานประจำปี เรื่อง สถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 57 ซึ่งเป็นการสำรวจสถานการณ์ของทุกประเทศในโลก ได้สร้างความกังวลใจแก่ประเทศไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมและผู้ส่งออกไทย เนื่องจากไทยถูกลดอันดับจากบัญชีกลุ่มที่ 2 หรือเทียร์ 2 จากที่ต้องจับตามอง ลงมาอยู่ในกลุ่มเทียร์ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุดของโลก  สถานการณ์นี้ทำให้ฐานะของประเทศไทย ถูกจัดรวมไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศแอลจีเรีย, แอฟริกากลาง, คองโก, คิวบา, อิเควทอเรียลกินี, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ, คูเวต, ลิเบีย, มาเลเซีย, มอริเตเนีย, ปาปัวนิวกินี, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, ซีเรีย, อุซเบกิสถาน, เยเมน, เวเนซุเอลา, ซิมบับเว เป็นต้น แน่นอน! การเผยแพร่รายงานชิ้นนี้ ถือว่ามีผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และอื่น ๆ อีกมาก ที่สำคัญยังทำให้การค้าการขายของภาคเอกชนต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทกุ้ง ปลา เครื่องนุ่งห่ม และ อ้อย ต่างต้องมองหามาตรการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง… การส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐ รวมถึงในกลุ่มประเทศยุโรป ที่แต่ละปีจะมีมูลค่าจำนวนมหาศาล เพราะผลที่ตามมาคือ กระทบต่อภาพลักษณ์ของสินค้าไทย ที่มีผลต่อการทำการค้ากับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐได้ ที่สำคัญอาจถูกขยายผลโดยองค์กรต่าง ๆ ที่จับตามองไทย หรือแม้แต่สื่อต่างประเทศอาจนำไปขยายผลได้ว่า ไทยยังมีปัญหาการค้ามนุษย์ จนเป็นแรงกดดันต่อผู้บริโภคในการพิจารณาซื้อสินค้า  ดังนั้นหันมาดูมาตรการที่ไทยดำเนินการรับมือกับผลกระทบการ บอยคอตสินค้าไทย โดยในระยะยาวนั้นก็จะมีการดำเนินการแผนการทำงานในอนาคตตามที่ได้แจ้งแก่สหรัฐเอาไว้ก่อนหน้านี้ การจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหากระบวนการผลิตสินค้า 5 รายการที่ถูกสหรัฐขึ้นบัญชีว่ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับเอาไว้ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวแบบเชื่อมโยง การจัดทำมาตรฐานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินการเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องของแรงงานเถื่อนและการค้ามนุษย์อย่างเข้มงวด เป็นต้น ส่วนแผนเร่งด่วนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในระยะสั้นนั้น พบว่าหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมดำเนินการคือ ขณะนี้สำนักพาณิชย์ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจต่อรัฐบาลสหรัฐ สภา  คองเกรส บริษัทค้าปลีก และผู้นำเข้า เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาในเรื่องแรงงานที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการค้า  ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ ยังมีแผนโรดโชว์จัดกิจกรรมในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งการเดินสายไปพบปะผู้นำเข้ารายสำคัญในเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐ อย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้าและผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไทย  ส่วนภาคเอกชนนั้นพบว่าหลายบริษัทไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออกกุ้ง ปลา และสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ได้ทยอยหารือและทำความเข้าใจกับลูกค้าต่างประเทศ ที่มีออร์เดอร์หรือค้าขายกันมานานเพื่อสร้างความเข้าใจ เพราะมั่นใจว่าสินค้าส่วนใหญ่มีการใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งลูกค้าในต่างประเทศส่วนใหญ่เข้าใจ และยืนยันที่จะหาซื้อสินค้าของไทยต่อไป เห็นได้จากสมาคมผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของสหรัฐ (เอ็นเอฟไอ) ออกแถลงการณ์ยืนยันทำการค้ากับไทยในฐานะคู่ค้าที่ตั้งใจและปฏิบัติตามมาตรฐานในด้านแรงงานต่อไป แต่จะไม่นำเข้าสินค้าเฉพาะโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานเรื่องแรงงานเท่านั้น ขณะที่องค์กรธุรกิจของไทยทั้งสภาหอฯ สภาอุตฯ สมาคมอาหารแปรรูป ก็เดินหน้าทำความเข้าใจกับองค์กรเอกชนต่างประเทศเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการทำความเข้าใจกับบริษัทในต่างประเทศที่เป็นสมาชิกองค์กรนั้น ๆ รวมถึงองค์กรเอกชนเหล่านั้นสามารถไปสร้างความเข้าใจกับบรรดานักการเมืองของสหรัฐหรือในกลุ่มยุโรปได้ เพราะอย่าลืมว่าในปัจจุบันรัฐบาลทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับองค์กรธุรกิจของตนเองอย่างมาก อย่างไรก็ตามแม้ว่าหลายฝ่ายต่างกังวลเรื่องมาตรการลงโทษของสหรัฐเกี่ยวกับสินค้าไทย รวมถึงภาพลักษณ์สินค้าไทยในสายตาของลูกค้ากลุ่มยุโรปและสหรัฐ แต่ในภาพรวมแล้ว! หากศึกษาให้ดีเกี่ยวกับข้อมูลของประเทศที่เคยอยู่ในระดับเทียร์ 3 กว่า 20 ประเทศ พบว่า หลายประเทศก็ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ  ทั้งทางตรงและทางอ้อมเกี่ยวกับการส่งออกไปยังสหรัฐ เพราะสามารถขอการยกเว้นจากสหรัฐได้  หากไทย… ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงต่อบริษัทคู่ค้าไปแล้ว บริษัทต่าง ๆ น่าจะมั่นใจทำการค้ากับไทยต่อไปอีกนาน เพราะในภาพรวมสินค้าไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันบทลงโทษตามตัวกฎหมายของสหรัฐ ในการจัดอันดับครั้งนี้ คงไม่รวมถึงเรื่องของการค้าและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แต่อาจมีบทลงโทษในลักษณะพิจารณาระงับให้ความช่วยเหลือ เช่น ไม่สนับสนุนเงินทุนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศที่มีปัญหาการค้าแรงงานมนุษย์ ในโครงการแลกเปลี่ยนการศึกษา วัฒนธรรม และความร่วมมือต่าง ๆ รวมถึงอาจจะคัดค้านการให้ความช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหาการค้ามนุษย์บนเวทีขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก เป็นต้น ดังนั้น ณ เวลานี้ ทุกอย่างจึง เป็นหน้าที่ของทุก ๆ ฝ่ายที่ต้องร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาเรื่องของการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ก็เชื่อว่า ปัญหาทุกอย่างคงได้รับการแก้ไขอย่างราบรื่นและยั่งยืนต่อไป!. บัญชีสถานการณ์การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์แต่ละประเทศตามกฎหมายสหรัฐ เทียร์ 1ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐ ในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์ เทียร์ 2ประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐ แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา เทียร์ 2 (ที่ต้องจับตามอง)ประเทศที่มีรายงานเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ เทียร์ 3ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐ และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา มนัส แวววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เร่งชี้แจง-โรดโชว์บริษัทคู่ค้า รับมือสหรัฐขึ้นบัญชีดำไทย

Posts related