ผลพวงจากความวุ่นวายทางการเมือง ที่กินเวลามานานผนวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ภาวะหนี้ครัวเรือนยังคงไต่ระดับเพิ่มขึ้นไม่หยุด ว่ากันว่า… ภายในสิ้นปีนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศหรือจีดีพี จะพุ่งขึ้นสูงถึง 85% ทีเดียว เดิมทีในปี 56 มีหนี้ครัวเรือนอยู่เพียง 82.3% ขณะที่ในปี 58 มีโอกาสพุ่งเพิ่มขึ้นถึง 87% หากมองย้อนถึงปัจจัยที่หนุนให้หนี้ครัวเรือนสูงส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้นโยบายประชานิยมช่วงที่ผ่านมา ทั้งโครงการบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก เมื่อโครงการหมดอายุกำลังซื้อภายในประเทศหดตัวลง สร้างความอ่อนแอให้ระบบเศรษฐกิจ กลุ่มที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่คือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนมีรายได้ไม่พอรายจ่าย หรือชักหน้าไม่ถึงหลัง ล่าสุดตัวเลขเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท. สิ้นไตรมาส 2 ปี 57 พบว่า มียอดคงค้างสุทธิอยู่ที่ 10.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.11% หรือ 752,730 ล้านบาท ขณะที่ความสามารถชำระหนี้ด้อยลง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5.8% ในไตรมาส 1 ปี 57 เป็น 6% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 57 เพราะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อส่วนบุคคลด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ การที่ขุนคลัง “สมหมาย ภาษี” ออกมาประกาศว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในภาวะชะงักงัน ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่มีการใช้จ่ายเกิดขึ้น โดยคนจนไม่มีเงินที่จะใช้จ่าย ขณะที่คนรวยมีเงินไม่รู้ว่าจะนำเงินไปลงทุนอะไร หรือใช้จ่ายอะไรที่ได้ผลตอบแทนที่ดี เพราะขาดความเชื่อมั่นทำให้เกิดความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควร ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสียของสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ไปด้วย ด้านตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 3.06 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,000 ล้านบาทหรือประมาณ 10% ส่วนใหญ่เป็นหนี้เสียที่เกิดจากเช่าซื้อ โดยเฉพาะรถยนต์ เพราะถูกกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งกระฉูด เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงกระทบรายได้ของครัวเรือน และมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้จนทำให้เกิดหนี้เสียในระบบเพิ่ม ข้อมูลนี้สอดรับกับความเห็นของ “ณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์และการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ที่ระบุว่า ตัวเลขเอ็นพีแอลในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.3% จากสิ้นปี 56 อยู่ที่ 2.5% เพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงต้นปีทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกันยังมีสินเชื่อรายใหญ่ 1-2 ราย ที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งหากแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลรายใหญ่ได้จะทำให้เอ็นพีแอลต่ำกว่า 3% เช่นเดียวกับ “รุ่งโรจน์ จรัสวิจิตรกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ มองว่า หนี้เสียเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี เพราะได้รับผลกระทบจากการเมือง และกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างจังหวัด ประกอบกับเกษตรกรมีรายได้ไม่ดีนัก ซึ่งช่วงนั้นเกษตรกรยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวทำให้การค้างชำระหนี้มีสัดส่วนที่สูงถือเป็นช่วงที่ยากลำบากทำให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งต้องเข้าไปช่วยเหลือลูกค้ากันอย่างเต็มที่ ขณะที่หนี้เสียในธุรกิจลีสซิ่งนั้น ยังพอมีช่องให้หายใจหายคอได้บ้าง โดย “อนุชาติ ดีประเสริฐ” ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย บอกว่า ก่อนหน้านี้เอ็นพีแอลของการเช่าซื้อรถยนต์ได้ปรับเพิ่มขึ้นถึง 3.6% ปัจจุบันได้ลดลงมาอยู่ที่ 3% เพราะสถาบันการเงินได้มีการปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ช่วงที่มีปัญหา ซึ่งเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นถือว่ายังไม่ได้เป็นระดับที่น่ากังวล เพราะปกติสถาบันการเงินก็มีมาตรการคุมเข้มอยู่แล้ว ส่วนหนี้ทางด้านที่อยู่อาศัยนั้น “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ยังไม่ห่วงหนี้เสียของสินเชื่อในส่วนนี้ เพราะเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน และปัจจุบันหนี้เสียเริ่มอยู่ในภาวะทรงตัว จากในช่วงครึ่งปีแรก หนี้เสียอาจปรับขึ้นบ้าง เพราะลูกค้าได้รับผลกระทบจากบ้านเมืองไม่สงบ ซึ่งช่วงนั้นเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.8% แต่ขณะนี้ได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 1.6% ถ้าเทียบเอ็นพีแอลของธนาคารกสิกรไทย กับระบบธนาคารพาณิชย์ ถือว่ายังอยู่ระดับต่ำ ขณะที่ “เบญจรงค์ สุวรรณคีรี” ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย บอกว่า สัญญาณหนี้เสียของธุรกิจเช่าซื้อเริ่มชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์เริ่มมีสัดส่วนที่สูงจากเดิมอยู่ที่ระดับ 1% ปรับเพิ่มเป็น 2-2.3% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการปัญหาโครงการรถคันแรก เห็นได้จากยอดผิดนัดชำระ 1-3 เดือนเริ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่หนุนหนี้ครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่หนี้เสียที่อยู่อาศัย แม้เพิ่มขึ้นแต่เป็นอัตราที่ชะลอตัวลง เพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ความร้อนแรงของอสังหาริมทรัพย์ลดลง แต่หลังจากนี้ไปต้องดูโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐจะทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวมากน้อยแค่ไหน แม้ตัวเลขเอ็นพีแอลที่ขยับเพิ่มขึ้น จะยังไม่ได้สร้างปัญหาอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่หากมองประกอบกับภาพเศรษฐกิจ ที่ตัวขุนคลังได้ออกมายอมรับว่า “ชะงักงัน” และต้องรอลุ้นการฟื้นตัวกันต่อไปแล้ว การเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในหนี้เสียของสินเชื่อต่าง ๆ ในวันนี้ อาจลุกลามบานปลายต่อไปได้ในอนาคต หากไม่มีการเฝ้าระวัง และบริหารจัดการที่ดีพอ!!. ทีมเศรษฐกิจ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เศรษฐกิจชะงักหนี้เน่าโผล่ สารพัดลูกหนี้จ่อคิวชักดาบ
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs