นับเวลาถอยหลังอีกไม่นานจะถึงวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งเป็นวันดีเดย์ ที่กลุ่มคณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิป ไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกาศจะปิดกรุงเทพฯ (ชัตดาวน์) ส่งผลให้หลายฝ่ายต่างลุ้นระทึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ต้องติดต่อค้าขายกับทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องเตรียมการระดมแผนรับมือ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ หลังจากมีบทเรียนครั้งใหญ่มาหลายต่อหลายครั้งแล้ว เริ่มด้วยคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาห  กรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมประจำเดือนในวันที่ 6 ม.ค. โดยหัวข้อใหญ่ที่หยิบยกขึ้นมาหารือเป็นพิเศษ คือ แผนรับมือการปิดกรุงเทพฯ ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ ซึ่งทำให้การประชุม กกร. ครั้งนี้ ใช้เวลาการประชุมถึง 3 ชั่วโมง จากปกติจะใช้เวลาประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง สั่งบริษัทย้ายที่ทำงานพื้นที่เสี่ยง นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมกกร. เปิดเผยว่า ได้ให้แต่ละองค์กรเตือนสมาชิก เตรียมพร้อมรองรับเพื่อป้องกันปัญหาด้านการขนส่ง ไม่ให้การดำเนินธุรกิจ และการผลิตเกิดการสะดุด เช่น บางบริษัท อาจต้องย้ายออฟฟิศในกรุงเทพฯ ออกไปทำงานที่โรงงานในต่างจังหวัดแทน หรือการเตรียมวัตถุดิบการผลิตล่วงหน้า ก่อนถึงกำหนดปิดกรุงเทพฯ ส่วนการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้น 7 องค์กรภาคเอกชน จะประชุมหารือภายใน 1-2 วันนี้ โดยจะเชิญองค์กรต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมกำหนดแผนในการปฏิรูปประเทศ เช่น จะเชิญพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน กปปส. กองทัพ กกต. นักวิชาการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และเครือข่ายสังคมอื่น ๆ ให้เข้ามาแสดงความเห็นในการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เป็นแนวทางให้กับทุกฝ่ายนำไปแก้ไขปัญหา  กกร.ประกาศจุดยืน 3 ข้อ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ได้สรุปจุดยืนของ กกร. กรณี กปปส. จะชุมนุมปิดกรุงเทพฯ 3 ข้อ คือ 1.กกร. ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ 2.อยากเห็นการแก้ไขความขัดแย้งการหาทางออกจากวิกฤติทางการเมืองด้วยสันติวิธี โดยเร่งด่วนที่สุดบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของชาติ และ 3. การเคลื่อนไหววันที่ 13 ม.ค. นั้น กกร. มีความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อย รวมถึงผู้ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงภารกิจและการเดินทางในพื้นที่เสี่ยง อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อจะกระทบกับเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งขณะนี้สำนักงานด้านเศรษฐกิจหลายแห่งได้ประเมินผลกระทบและการเติบโตเศรษฐกิจไว้ต่างกัน บางแห่งระบุว่าจะขยายตัวเพียง 3% ซึ่งต่ำกว่าระดับศักยภาพของประเทศไทย และระดับเฉลี่ยของอาเซียน 5 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใกล้เคียงกันที่ 5% โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท หากลดลง 2% เท่ากับมูลค่าลดไป 240,000 ล้านบาท เชื่อไม่กระทบธุรกรรมการเงิน นายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละธนาคารได้เตรียมความพร้อมรับมือไว้แล้ว โดยมอบหมายให้สาขาธนาคารพิจารณาพื้นที่ที่อยู่ในจุดเสี่ยง หากจำเป็นต้องปิดทำการ ก็แล้วแต่การพิจารณาตัดสินใจ และเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการทำธุรกรรมของประชาชน เนื่องจากแต่ละธนาคารมีการตั้งสำรองเงินไว้ล่วงหน้า พลังงานสั่งทุกหน่วยทำแผนรับมือ นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแผนมาตรการรองรับการปิดกรุงเทพฯว่า ได้ประเมินสถานการณ์ใน 3 ระดับ คือ 1.เป็นการชุมนุมตามปกติไม่ยืดเยื้อ 2.มีการชุมนุมปิดล้อม ทำให้ต้องมีการย้ายสถานที่ทำการชั่วคราว 3. มีการปิดล้อมยึดสถานที่ราชการยาวนานมากกว่า 1-2 เดือน ซึ่งทุกสถานการณ์จะต้องมีการเตรียมแผนรองรับไว้ โดยจะแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามสถานการณ์ นอกจากนี้ได้สั่งการไปยังผู้ค้าน้ำมันที่อยู่ในรัศมีจุดชุมนุม 20 จุด ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งมีสถานีบริการน้ำมัน รวม 73 แห่ง สถานีบริการเอ็นจีวี 7 แห่ง และ สถานีบริการแอลพีจี 21 แห่ง ให้เตรียมรับมือ ซึ่งอาจจะต้องมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่ม เพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคม ให้ผ่อนปรนเกณฑ์การขนส่งรถน้ำมัน ให้สามารถขนถ่ายในช่วงเวลากลางวันได้  ขู่ตัดไฟเอาผิดกฎหมายแน่ อย่างไรก็ตาม ได้ขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุมอย่าดำเนินการตัดไฟฟ้าสถานที่ราชการซึ่งหากมีการตัดไฟฟ้าจะมีความผิดตามกฎหมาย เพราะเป็นสินทรัพย์เพื่อให้บริการสาธารณูปโภค มีความผิดตามกฎหมายของรัฐวิสาหกิจในแต่ละแห่ง และยืนยันว่าจากการหารือกับผู้บริหารการไฟฟ้านคร หลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็มีความชัดเจนว่า ทั้งหมดเป็นหน่วยงานเพื่อให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชน ไม่ใช่หน่วยงานที่จะเข้าไปตัดไฟฟ้าแต่อย่างใด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมเจ้าหน้าที่ กฟน. ยืนยันว่า หากมีการตัดไฟฟ้า สามารถดำเนินการต่อได้ตามปกติทันที หากไม่มีผู้ชุมนุมเข้ามาขัดขวาง ซึ่งหากตัดเป็นรายบุคคลก็จะกระทบเป็นรายบุคคลเท่านั้น และการตัดไฟฟ้าไม่ได้เกิดจากการกระทำของภายใน กฟน. อย่างแน่นอน เพราะ กฟน. มีทั้งเจ้าหน้าที่ และส่วนผู้รับเหมา ซึ่งทั้งหมดมีความรู้ที่จะดำเนินการตัดไฟฟ้าได้ ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ตัดไฟฟ้ามาจากส่วนใด นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานกำกับบริหารนโยบายเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้รับทราบรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 57 โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่มีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยคาดว่าหากสามารถจัดการเลือกตั้งได้ และมีรัฐบาลใหม่แล้ว แต่รัฐบาลใหม่ไม่สามารถดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมวงเงิน 2 ล้านล้านบาท และโครงการลงทุนระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำวงเงิน 350,000 ล้านบาท รวมทั้งไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 3-3.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ตั้งไว้ประมาณ 4-5%. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนตื่นสำรองแผนฝ่าวิกฤติ รับมือ ‘ชัตดาวน์กรุงเทพฯ’

Posts related