นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานประเมินอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนหลังจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 โดยลาว จะมีเศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นกัมพูชา, พม่า, อินโดนีเซีย, เวียดนาม,ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, บรูไน, ไทย และ สิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์และไทยมีขนาดเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่ ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูง ๆ นั้น ทำได้ลำบาก ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจลาว, กัมพูชา, พม่า ขยายตัวในระดับสูงหลังการเปิดเออีซี เนื่องจากจะมีทุนข้ามชาติเข้ามาตั้งโรงงานมากขึ้น ทั้งนักลงทุนจากไทย ยุโรป สหรัฐ และเอเชีย เพื่อต้องการอาศัยต้นทุนการผลิตที่ไม่สูง โดยเฉพาะเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าเช่าพื้นที่โรงงาน และมีปริมาณแรงงานที่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน ขณะเดียวกันผลพวงจากการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของไทยมากขึ้นก็จะทำให้ประชากรมีรายได้เพิ่ม ประเมินเศรษฐกิจในประเทศอาเซียนจะสอดคล้องกับตัวเลขของไอเอ็มเอฟ ที่ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาคอาเซียน หลังการเปิดเออีซีระหว่างปี 59-63 คือ 1.ลาว ขยายตัวเฉลี่ย7.7% ต่อปี, 2. กัมพูชา 7.5%, 3.พม่า 6.9%, 4. อินโดนีเซีย 6.5%, 5.เวียดนาม 5.5%, 6.ฟิลิปปินส์ 5.5%, 7.มาเลเซีย 5.2%, 8. บรูไน 4.8% , 9. ไทย 4.7% และ 10. สิงคโปร์ 4% ส่วนก่อนการเปิดเออีซีตั้งแต่ปี 44-58 พบว่าพม่ามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากสุดเฉลี่ย 9% รองลงมาเป็น กัมพูชา 7.7%, ลาว 7.4%, เวียดนาม 6.6%, อินโดนีเซีย 5.6%, สิงคโปร์ 5%, ฟิลิปปินส์ 5%, มาเลเซีย 4.8%, ไทย 4.3% และ บรูไน 2.1% “ลาวมีประชากรน้อยและในอนาคตเชื่อว่าภาคบริการและเกษตรกรรมจะเป็นกลุ่มที่จะสร้างรายได้ให้กับประชากรได้ดี ส่วนกัมพูชาและพม่า เชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมจะโดดเด่นทั้งสองประเทศ เพราะปัจจุบันมีแรงงานที่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องนุ่งห่มของไทยจำนวนมากที่ได้ย้ายฐานการผลิตไปอยู่กัมพูชาเพื่อลดต้นทุนจากค่าจ้างบ้านเราที่สูงมากหากเทียบกับเพื่อนบ้าน” นายอัทธ์ กล่าวว่า ในส่วนของไทย หากจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวระดับสูง ก็จะเน้นอานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล เพราะหากเสร็จจะทำให้การขนส่งสินค้าและการเดินทางของนักท่องเที่ยวมีความสะดวกก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มได้ดี ขณะเดียว จำเป็นต้องส่งเสริมการลงทุนการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนแรงงานที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรม และต้องส่งเสริมการพัฒนาการดีไซน์ของสินค้าเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น “ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย หลังเปิดเออีซีคงหนีไม่พ้นเรื่องของต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจไทยน้อยลง ซึ่งหากเพื่อนบ้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับไทยอาจทำให้เงินลงทุนต่างชาติไหลไปเพื่อนบ้านได้ อย่างไรก็ตามหากโครงการ 2 ล้านล้านบาทดำเนินการผ่านแบบฉลุยก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตโตเพิ่มได้มาก”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนถอดใจเศรษฐกิจไทยติดรองบ๊วยหลังเปิดเออีซี

Posts related