บสก.4 จัดเสวนา “ทีวีดิทัล ประชาชนได้อะไร” เครือข่ายครอบครัวฯ ห่วงเรื่องเนื้อหาไม่เหมาะสม ด้านเอกชนเชื่อทีวีดิจิทัลสร้างประโยชน์ต่อประชาชน บรรยากาศในงานเสวนา “ทีวีดิทัล ประชาชนได้อะไร” บรรยากาศบนเวทีเสวนา “ทีวีดิทัล ประชาชนได้อะไร”
วันนี้ (19 ต.ค.) เวลา 09.00 น. จัดโดย ผู้เข้ารับการอบรม หลักสูตรผู้บริหารสื่อมวลชนระดับกลาง (บสก.) รุ่นที่ 4 และสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ตึกภปร. รพ.จุฬาลงกรณ์ ร่วมกันจัดเสวนาเวทีสาธารณะเรื่อง "ทีวีดิทัล ประชาชนได้อะไร" บรรยากาศในงานเสวนามีนิสิต นักศึกษาและประชาชน ให้ความสนใจรับฟังกว่า 200 คน นายสุวิทย์ มิ่งมล ประธานบสก.4 กล่าวว่า ทางบสก.ได้ลงพื้นที่ถามถึงความสงสัยจากประชาชน เพราะเชื่อว่านับตั้งแต่วันนี้ไปคงจะมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้น รศ.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช.จะเป็นผู้เปิดการประมูลและประสานการเปลี่ยนแปลงจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิทัล รวมทั้งตรวจสอบการถ่ายทอดเนื้อหาของรายการ ซึ่งตามกฎหมายระบุให้ใช้วิธีการประมูลในการจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีดิจิทัล เชื่อว่าเป็นวิธีที่โปร่งใสที่สุด คาดว่าจะเสร็จต้นปีหน้า ซึ่งปัจจุบันมีเคเบิลทีวีจำนวนมาก แต่คนดูยังคงตามดูช่องฟรีทีวีอยู่ ดังนั้นผู้เข้าประมูลส่วนมากจึงเป็นสื่อรายใหญ่ ซึ่ง กสทช. ได้สนับสนุนให้มีการควบคุมดูแลกันเอง การห้ามมีโฆษณาไม่เหมาะสมก่อนเวลา 4 ทุ่ม จึงไม่อยากให้มองทีวีดิจิทัลเป็นแค่เรื่องของธุรกิจ "ทีวีทุกวันนี้สามารถรับสัญญาณดิจิทัลได้โดยการซื้อกล่องรับสัญาณเพิ่ม ซึ่งขณะนี้กสทช.กำลังจะเปิดให้มีกล่องคุณภาพมาขาย และจะออกคูปองเงินสด 700 บาท เพื่อแจกให้ประชาชนนำไปซื้อกล่องรับสัญญาณ แต่มีส่วนที่ต้องจ่ายเอง 300-400 บาทเพราะกล่องราคาพันกว่าบาท" นายปัณณ์ เสริมสุขสกุลชัย บริษัท มีเดียคอม จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิทัลครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เพราะเป็นสื่อที่ประชาชนใช้มากกว่าสื่ออื่น โดยระบบดิจิทัลแค่มาแทนฟรีทีวีเท่านั้น ดังนั้นงบประมาณการโฆษณาจึงอยู่เท่าเดิม ราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเพียงการแบ่งงบมากขึ้น นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า ต่อไปต้องสร้างความเข้าใจต่อคนไทยให้รู้เท่าทันสื่อและอยู่กับสื่อใหม่ให้ได้ ซึ่งเคยถามทาง กสทช. ว่าช่องเด็กไม่ต้องผ่านการประมูลได้ไหม แต่ได้คำตอบว่าไม่ได้ ต้องประมูล เพราะจะเป็นการเสียประโยชน์ของรัฐ แต่เมื่อสักครู่ กสทช.ธวัชชัย กลับชี้แจงว่าบางช่องไม่ต้องผ่านการประมูล นอกเหนือจากทุนแล้ว ผู้ประมูลควรต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และอยากฝากไปยังกสทช. ให้มีการเตรียมมาตรการสำหรับรองรับผู้ประมูลที่มากขึ้น และในกรณีที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมจะดำเนินการอย่างไร นางสาวสุภาพร โพธิ์แก้ว หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชนคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นเหมือนตัวช่วยของกสทช. ดังนั้นอยู่ที่กสทช.ว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีนี้ให้ตอบโจทย์นโยบายได้อย่างไร โดยการเปลี่ยนผ่านของทีวีดิจิทัลเป็นการเพิ่มช่องทั้งแบบธุรกิจและสาธารณะ ปัญหาคือจะเกิดทางเลือกที่มากขึ้นไหม แต่สุดท้ายก็พบว่า ทางเลือกไม่ได้เพิ่มมากขึ้นเท่าที่ควร จึงต้องระวังเรื่องนี้ที่มักจะถูกหลงลืมและหล่นหายไป ส่วนเมื่อมีทางเลือกที่มากขึ้น แล้วคนดูจะรู้จักเลือกเสพด้วยหรือไม่ ที่สุดแล้วภาคประชาชนต้องรู้จักเลือกให้เป็น นางจำนรรค์ ศิริตัน หนุนภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย จำกัด กล่าวว่า การประมูลทีวีดิจิทัลครั้งนี้รายใหม่อาจลำบาก แต่มีโอกาสเกิดผู้ผลิตรายเล็กมากขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมเงิน ซึ่งเชื่อว่าทีวีดิจิทัลจะสร้างประโยชน์แก่ประชาชน ทั้งการมีช่องเด็ก เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีพื้นที่แสดงผลงาน มีช่องสำหรับผู้พิการ แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงเพราะช่องเพิ่มขึ้นแต่โฆษณาเท่าเดิม ในระยะแรกคงลำบาก และรายการก็ไม่มีความหลากหลายมากนัก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนมั่นใจทีวีดิจิทัลสร้างประโยชน์ให้ประชาชน

Posts related