ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ รายได้จากการท่องเที่ยว…ถือเป็นเครื่องยนต์หลักเพียงเครื่องยนต์เดียว ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 56 เดินหน้าขยายตัวต่อไปได้โดยไม่ตกเหว เพราะลำพังจะพึ่งพิงเพียงแค่รายได้จากการส่งออกเหมือนอดีตที่ผ่านมาอีก คงไม่ง่ายนัก! สาเหตุหลักเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจโลกยังยักแย่ยักยัน…ไม่เห็นหนทางหรือแสงสว่างที่ชัดเจนนัก ตลาดหลักหลายแห่งยังไม่สดใส ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศยังโงหัวไม่ขึ้น ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะขาดแรงกระตุ้นจากมาตรการของรัฐบาล ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของคนไทยลดน้อยถอยลง ทำให้หลายสำนักวิจัยต่างประเมินว่าตลอดทั้งปี 56 นี้การส่งออกขยายตัวได้ 1-3% เห็นได้จากธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจที่ประเมินว่าการส่งออกของไทยในปีนี้คงสามารถขยายตัวได้เพียงแค่ 1% เท่านั้น ดังนั้นรายได้จากการท่องเที่ยว…จึงเข้ามามีบทบาทเข้ามามีส่วนสำคัญ ช่วยให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางพายุท่ามกลางขวากหนามสารพัด ด้วยเหตุที่ว่าไทยมีแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ มีสินค้าท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว เพราะไม่ว่านักท่องเที่ยวจะต้องการสินค้าแบบใด เมืองไทย… สามารถตอบสนองความต้องการได้หมด ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เทศกาลท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหาร สินค้าพื้นเมือง สินค้าคุณภาพ ที่มีหลากหลายดีไซน์หรือจะเป็นการเข้ามาพักรักษาตัว เสริมความงาม ตีกอล์ฟ และอีกสารพัด นักท่องเที่ยวสามารถเลือกสรรได้ นอกจากนี้…โครงสร้างพื้นฐานทางด้านการท่องเที่ยวในไทย ยังมีอยู่อย่างครบครัน ทั้งการเดินทางที่สะดวกสบาย โรงแรมที่พัก อาหารการกิน รวมไปถึงอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นมิตร ได้สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แม้ในความเป็นจริงแล้วอาจจะยังมีอีกหลายตัวแปรที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงให้กับนักท่องเที่ยว… ทั้งเรื่องของความปลอดภัย เรื่องการหลอกลวง หรือเรื่องการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวในสารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นสถานที่ที่นิยม อย่างภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย หรือพัทยา แต่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ถือเป็นเจ้าภาพได้พยายามดำเนินการและขอความร่วมมือจากหลาย ๆ หน่วยงานเพื่อแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะ…เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ได้ 2.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 58 โดยล่าสุดในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 56) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 1.96 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 853,122 ล้านบาทแล้ว ส่วนทั้งปี 56 ได้ตั้งเป้าหมายไว้ชัดเจนว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 26 ล้านคน ไม่ต่ำกว่า 1.17 ล้านล้านบาท ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ทุกฝ่ายจึงตั้งความหวังไว้กับการท่องเที่ยวไทย ว่าจะกลายเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่จะช่วยบูทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งแม้แต่แผนพัฒนาชาติเองได้พยายามที่จะปรับโครงสร้างรายได้ของประเทศใหม่จากเดิมที่เน้นในเรื่องของการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว ก็หันมาให้ความสำคัญกับรายได้ท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แม้ว่ารายได้ท่องเที่ยวจะกลายเป็นความหวังเป็นความฝันของคนในชาติ แต่ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่เกิดจากเหตุการณ์ทาง “การเมือง” ที่เวลานี้ทุกฝ่ายกำลังจับจ้องว่าสุดท้ายแล้วการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยใช้นกหวีด เป็นสัญลักษณ์ครั้งนี้จะลงเอยอย่างไร? ถ้า…ทุกอย่างจบลงได้อย่างรวดเร็ว การชุมนุมไม่ยืดเยื้อ ไม่มีความรุนแรง ไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอยเหมือนในประวัติศาสตร์ ก็เชื่อว่าจะไม่เสียหายต่อภาพลักษณ์ประเทศ ไม่เสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ทำให้นักท่องเที่ยวหวาดกลัว แม้ว่านักท่องเที่ยวจะมองว่าเป็นเรื่องปกติของวิถีทางระบอบประชาธิปไตยก็ตามแต่ตราบใดที่เหตุการณ์ทางการเมืองบานปลาย…ทุกอย่างอยู่เหนือความคาดหมายขึ้นมา เชื่อได้ว่าความหวังความฝันจากการท่องเที่ยวคงจบเห่! หากจำกันได้ เหตุการณ์ชัดเจนที่สุด คงเป็นม็อบเสื้อแดงที่ปักหลักชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เมื่อปี 53 โดยขณะนั้นการชุมนุมยืดเยื้อนานหลายเดือน และมีการพัฒนาความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจุดนี้…ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกับชาวต่างชาติมากที่สุด จนทำให้สถานทูต 36 ประเทศทั่วโลก ต้องออกแถลงการณ์แนะนำการเดินทางเข้าไทยเริ่มตั้งแต่การเตือนให้ระมัดระวังตัวเองเมื่อมาเมืองไทยมากขึ้น ไปจนถึงเตือนให้ทบทวนการเข้ามาเที่ยวเมืองไทย เหตุการณ์ม็อบ…ในครั้งนั้น แค่ระยะเวลาการชุมนุมเพียง 1 เดือนเศษ ปรากฏว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเสียรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ตัวเลขการเติบโตลดลงจากที่คาดการณ์กว่า 20% ไม่เพียงแต่เฉพาะการชุมนุมม็อบใหญ่ ๆ ระดับประเทศเท่านั้นที่สร้างปัญหาให้กับภาคการท่องเที่ยว ม็อบภูมิภาค อย่างการ ประท้วงของม็อบยางพาราในภาคใต้ ที่มีการปิดเส้นทางการเดินทางเชื่อมต่อในภาคใต้แบบข้ามภูมิภาค และเส้นทางเข้ากรุงเทพฯ ก็ได้สร้างความเสียหายกับภาคการท่องเที่ยวไปแล้วกว่า 515 ล้านบาท เพราะการชุมนุมของกลุ่มยางพาราได้ปิดด่านชายแดน รวมทั้งการปิดสนามบิน ทั้งนักท่องเที่ยวไทย และนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและสิงคโปร์ จึงมีจำนวนลดลง แม้ว่าในขณะนี้ เหตุการณ์ยังไม่ได้รุนแรงเหมือนในครั้งนั้น แต่จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศก็พบว่า มีสถานทูตจาก 8 ประเทศ ได้แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาเมืองไทยแล้ว ทั้ง แคนาดา บราซิล อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรีย สวีเดน อิสราเอล ญี่ปุ่น และเขตเศรษฐกิจไต้หวัน ในจำนวนนี้หลายแห่งเป็นการแจ้งเตือนให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการชุมนุมเป็นพิเศษ ซึ่งถือเป็นการเตือนเพียงแค่ระดับ 1 เท่านั้น ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ประเมินผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่ต่อต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไว้ 4 แนวทางคือแนวทางแรกหากการชุมนุมต่อเนื่องและเคลื่อนไหวถึงปีหน้า และมีความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง จนส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 200,000 ล้านบาท ขณะที่แนวทางที่ 2 การชุมนุมยังคงต่อเนื่องมีการเคลื่อนไหวถึงปลายปี และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง จนกระทบการท่องเที่ยวและการลงทุน ทำให้เกิดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจ 150,000 ล้านบาท ส่วนแนวทางที่ 3 หากการชุมนุมต่อเนื่องแต่เป็นไป ด้วยความสงบเรียบร้อยจนถึงสิ้นปี และไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและลงทุนมากนักก็จะเกิดความเสียหาย 10,000– 20,000 ล้านบาท และสุดท้ายคือถ้าการชุมนุมสามารถคลี่คลายลงภายใน 1-2 สัปดาห์ด้วยความสงบ เช่น รัฐบาลยกเลิก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้งหมดโดยสิ้นเชิง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านสลายตัวลง ก็จะไม่เกิดความเสียหายของเศรษฐกิจ ดังนั้น…รัฐบาลจึงไม่สามารถที่จะปล่อยให้ทุกอย่างผ่านเลยไปแล้วไปซ้ำรอยเหมือนในอดีตที่ผ่านมาได้อีก เพราะเวลานี้สังคมต้องการคำตอบ…ต้องการความชัดเจนที่ชัดเจนจริง ๆ ไม่เช่นนั้นในอนาคต เมืองที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งยิ้ม อาจจะมีภาพลักษณ์ที่ไม่ยิ้มแล้วแต่อาจกลายเป็นภาพแห่งการนองเลือดแทนก็ได้!!. เอวิกานต์ บัวคง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนหวั่นม็อบนกหวีดยืดเยื้อฉุดรายได้ท่องเที่ยว…หล่นวูบ

Posts related