นายสาคร  ตรีธนจิตต์ นายกสมาคมป้ายและโฆษณา เปิดเผยว่าต้องการให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดูแลจัดระเบียบกฏหมายป้ายโฆษณาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้สอดรับกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน เนื่องจากกฏหมายที่ใช้อยู่ไม่เอื้ออำนวยแก่ผู้ประกอบการ เพราะควบคุมการติดตั้งป้ายในระยะที่ไม่เหมาะสมซึ่งจะไม่สามารถสื่อสารข้อมมูลไปสู่สายตาผู้รับสื่อได้ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอำนวนความสะดวกในการติดตั้งส่งผลให้ต้นทุนการทำงานเพิ่มสูงขึ้น สำหรับกฏหมายที่ใช้ควบคุมการติดตั้งป้ายคือพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ที่ห้ามสร้างป้ายริมถนนสูงไม่เกิน 30 เมตรและยาวไม่เกิน 32 เมตร และกำหนดพื้นที่ห้ามสร้างหรือดัดแปลงอาคารประเภทป้ายในระยะ 50 เมตร จาก ทางรถไฟ ทางด่วน ถนนสายหลัก 106 สาย และแม่น้ำเจ้าพระยา  ”กฏหมายออกมาแบบนี้เหมือนกดดันให้ผู้ประกอบการต้องยอมจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ติดป้ายในระยะที่พอใจ เพราะตอนออกกฏหมายไม่ชวนผู้ประกอบการร่วมรับรู้หรือเสนอความคิดเห็นซึ่งระยะ 50 เมตรตามพ.ร.บ.นั้นไกลเกินไป แต่เพราะธุรกิจต้องเดินหน้าต่อไปจะไม่ทำป้ายโฆษณาก็ไม่ได้ จึงต้องยอมจ่ายกันมา จนเป็นธรรมเนียมตั้งแต่ปี2532 แล้ว” อย่างไรก็ตามหากมีการแก้กฏหมายใหม่ต้องการให้ภาครัฐร่วมกันหารือกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัรและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายโดยทางสมาคมได้เตรียมข้อเสนอไว้แล้วหลายข้อ เช่น การกำหนดระยะห่างในการติดตั้งป้ายหรือขนาดของป้ายที่เหมาะสมซึ่งที่ผ่านมาเคยนำเสนอกับรัฐบาลมาหลายสมัยแต่ก็ถูกเพิกเฉยมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การออกมาเสนอให้แก้ไขกฏหมายในครั้งนี้ปัจจัยหลักไม่ใช่เพียงต้องหยุดปัญหาคอร์รัปชั่นแต่ต้องการสร้างระเบียบและความปลอดภัยแก่สังคมรวมถึงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตแบบก้าวกระโดด จากการลงทุนที่จะมีเพิ่มมากขึ้นหลังต้นทุนการติดตั้งป้ายต่ำลงด้วย นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยและประธานบริหาร บริษัท ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการวางแผนและซื้อสื่อโฆษณา มีเดีย เอเยนซี กล่าวว่า ต้องการให้คสช.เข้ามาดูแลการผูกขาดการประมูลงานโครงการของภาครัฐให้กับบริษัทที่มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะหรือปันส่วนแบ่งรายได้จากโครงการที่ประมูลได้ แก่ผู้ที่ช่วยสนับสนุนซึ่งเป็นสิ่งที่รู้กันในวงการผู้ทำธุรกิจอยู่แล้ว ทั้งนี้การผูกขาดกับเพียงบางบริษัทส่งผลให้ผลงานที่ออกมาไม่มีคุณภาพตามความเป็นจริงเพราะเหมือนเป็นการกีดกันบริษัทที่มีศักยภาพหรือบริษัทข้ามชาติ ระดับโลกให้ไม่เข้าร่วมประมูล เนื่องจากรู้ว่าไม่สามารถชนะการประมูลได้ซึ่งหากขจัดปัญหาไปได้จะส่งผลดีในแง่ของการกระจายรายได้ให้บริษัทต่างๆที่ประมูลโครงการได้มิใช่เป็นรายได้แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง นายเกรียงกานต์  กาญจนะโภคินประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจอีเว้นท์ กล่าวว่า คอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้แม้คนส่วนมากในสังคมพอจะยอมรับได้จึงอยากให้คสช.ปราบปรามการคอร์รัปชั่นในทุกธุรกิจ เพื่อผลประโยชน์ที่ดีแก่ประเทศในด้านการการพัฒนาตามศักยภาพให้ได้ตามเม็ดเงินลงทุนทั้งหมด   ”คนในวงการจะรู้กันเลยว่าโครงการต่างๆที่ต้องจ้างเอกชนมาดูแลมักจะมีบริษัทที่เป็นของนักการเมืองหรือผู้ที่อยู่ในวงการมาตัดหน้าประมูลงานพวกนั้นไปจากผู้ประกอบมืออาชีพตัวจริง แล้วไปจ้างแรงงานที่อื่นที่มีค่าแรงต่ำมาทำงาน เพื่อให้ตัวเองมีกำไรสูงสุด”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนเรียกร้องคสช.ล้างบางคอร์รัปชั่น

Posts related