นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (เอทีเอสเอ็มอี) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่า นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมเอทีเอสเอ็มอี ได้นำคณะกรรมการบริหารสมาคมมาเสนอแนวคิดที่รวบรวมจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศในการสนับสนุนวิสาหกิจเอสเอ็มอี โดยได้เสนอให้จัดตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อเป็นตัวแทนของเอสเอ็มอีรายย่อยในการประสานนโยบายกับภาครัฐ จากที่ปัจจุบันมีรูปแบบเป็นสมาคมเท่านั้นนอกจากนี้ยังเสนอโครงการเร่งด่วนเอสเอ็มอี ไลฟ์ สตรองค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในทุกด้านที่จำเป็นให้เอสเอ็มอี และปรับปรุงหลักสูตรโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ของ กสอ. ที่ใช้นานกว่า 30 ปี ให้ทันสมัยกับยุคดิจิตอลไอที และให้เชื่อมโยงธุรกิจสร้างสัมพันธภาพ ระหว่างสมาชิกเก่าและใหม่ หลังจบโครงการ“เบื้องต้นได้มอบหมายให้ กสอ. ประสานกับ สสว. พิจารณาว่า เรื่องใดที่ดำเนินการได้เลย ก็ขอให้เร่งดำเนินการ และให้ไปประชุมร่วมกับสมาคม วันที่ 26 มิ.ย.นี้ สำหรับมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอีที่ตรงกัน ก็จะเร่งดำเนินการ โดยแบ่งความรับผิดชอบให้ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นเจ้าภาพ ส่วนการจัดตั้งสภาเอสเอ็มอี เพื่อเป็นองค์กรเดียวที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของเอสเอ็มอีทั่วประเทศนั้น ขอให้เชิญเครือข่ายจากเอสเอ็มอีทุกกลุ่มเข้าร่วมหารือกันด้วย โดยจะเร่งสรุปข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อหารือเชิงนโยบายให้คสช.ต่อไป”นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกสมาคมเอทีเอสเอ็มอี กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมเสนอขอการสนับสนุนจากภาครัฐผ่านทางกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันต่อ ได้แก่ กองทุนเพื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรัฐร่วมเอกชน, โครงการเตรียมพร้อมเอสเอ็มอีสู่ตลาดอาเซียน พัฒนาแรงงานภาคบริการและภาษา, โครงการส่งเสริมอี- คอมเมิร์ช สำหรับเอสเอ็มอี, โครงการประเมินศักยภาพเพื่อปรับตัวสู่สากล, โครงการสร้างนวัตกรรมจากงานวิจัย, โครงการพัฒนาฝีมือแรงงานช่างเชื่อมสามจี และการตั้งจุดกระจายสินค้าเอสเอ็มอีภายในประเทศ ลักษณะเป็นเอสเอ็มอีพลาซ่า หรือเอสเอ็มอี เซนเตอร์ รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแสวงหาโอกาส ขายสินค้าได้ตลอดปีนางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดี กสอ. กล่าวว่า กสอ. ยังได้จัดให้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร และชลบุรี ซึ่งฐานการผลิตของไทยที่สมบูรณ์แบบที่สุดในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากจังหวัดดังกล่าว ได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงมากนักนอกจากนี้ ภาคตะวันออกยังมีโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น ท่าเรือน้ำลึก ทำให้สะดวกและง่ายในการโลจิสติกส์ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนได้เป็นจำนวนมาก มีจำนวนโรงงานรวมกันกว่า 14,000 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปประเภทอาหารทะเลสด และอาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์”สำหรับโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเดิมให้เข้าใจหลักการจัดการ การวางแผน และรู้จักคิดวิเคราะห์ก่อนการลงทุน รวมทั้งเปิดมุมมองวิสัยทัศน์ และแนวคิดของผู้ประกอบการในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง มุ่งเน้นเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ช่วยเร่งยกระดับผู้ประกอบการ โดยคาดปีนี้จะสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้กว่า 1,500 ล้านบาท นอกจากนี้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมโครงการ คพอ.ทุกรายจะได้รับสิทธิเป็นสมาชิกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ซึ่งมีสมาชิกกว่า 8,800 รายทั่วประเทศ นับเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอกชนเสนอตั้งสภาเอสเอ็มอี

Posts related