ใครจะไปนึกว่าเกมคุกกี้รัน (cookie run) จะกลายเป็นประเด็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ของคนไทย ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุเกิดจากลูกค้าของเอไอเอส 3จี หลายสิบราย ในระบบรายเดือน  ต่างได้รับใบแจ้งหนี้รอบบิลปัจจุบัน แล้วเกิดอาการบิลช็อกกับหนี้ค่าใช้บริการและซื้อสินค้าหลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน เมื่อตรวจสอบกับคอลเซ็นเตอร์พบว่า เป็นการใช้งานจริงที่เกิดจากการซื้อไอเท็มในเกมคุกกี้รัน ซึ่งคนไทยกำลังฮิตเล่นกันทั่วบ้านทั่วเมือง จนทำเอาคนที่ไม่เล่นบ่นพึมพำ แทบจะลบเบอร์ออกจากเครื่อง เพราะวัน ๆ ได้รับแต่คุกกี้รันมาให้ นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานตลาด เอไอเอส เล่าให้ฟังว่า ระบบการเก็บเงินโดยโอปเรเตอร์ นั้น เป็นบริการของกลุ่มสิงเทล ซึ่งเอไอเอสเป็นหนึ่งในนั้น ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน ที่ไม่มีบัตรเครดิต หรือไม่ต้องการใช้บัตรเครดิต ซื้อแอพพลิเคชั่นในสโตร์ทั้งกูเกิลเพลย์ สโตร์ และแอพสโตร์  เปิดบริการครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน แต่ช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม ระบบตรวจสอบมียอดเงินจากการใช้งานในแอพสูงผิดปกติ และมีการร้องเรียนจากลูกค้า จึงปิดระบบทันที เมื่อตรวจสอบก็พบว่า เป็นยอดเงินที่เกิดจากการใช้งานจริง กดซื้อจริง  “ระบบจะกำหนดเลยว่า เวลาซื้อไอเท็มแต่ละครั้ง จะต้องมีการยืนยันและส่งใบเสร็จยืนยัน แต่มีข้อมูลที่ได้รับการยืนยันจากหลายคนว่า เล่นแบบนี้แล้วฟรี ไปแฮกแบบที่มีให้ดูบนวิดีโอคลิป ซึ่งจุดนี้ทำให้เอไอเอสกังวลมาก เพราะทำไปแล้วทำให้เกิดค่าใช้จ่าย เพราะมีการใช้งานเกิดขึ้น ไม่สามารถจะไปหยุดบิลได้ แต่เมื่อลูกค้าเดือดร้อนจริง ๆ เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์  มียอดเก็บเงินสูงมาก จึงเลือกจะดูแลลูกค้าทุกคนก่อน แม้เวลานี้การหารือกับกูเกิล  ซึ่งเป็นเจ้าของร้านค้าจะยังไม่มีข้อสรุป   “กลุ่มที่ยอดสูงมาก ๆ มีจำนวนประมาณหกสิบคน ที่เหลือเป็นยอดสูงปานกลาง ต่ำสุดหลักร้อยบาท สูงสุดประมาณหกแสนบาท เอไอเอส รับทราบข้อมูลก่อนจะรู้จากสื่อ เริ่มดูแลมาตั้งแต่ต้น เพราะลูกค้ารู้เท่าไม่ถึงการณ์จริง ๆ ไม่มีใครตั้งใจโกง เพราะถ้ารู้ว่า ใช้งานแล้วจะเสียเงินมากขนาดนี้ คงไม่มีใครกล้า” ผู้บริหารเอไอเอส ยอมรับว่า ระบบการชำระเงิน แม้จะเป็นมาตรฐานโลก มีความปลอดภัยสูง แต่ร้านค้าเป็นผู้กำหนดการจ่ายเงิน  การจ่ายเงินผ่านเอไอเอสจึงไม่ได้กำหนดวงเงินค่าใช้จ่าย ต่อไปนี้เอไอเอสจะมีระบบกั้นไว้อีกชั้น เพื่อกำหนดวงเงินซื้อสินค้า เหมือนที่กำหนดวงเงินค่าโทรฯ เพื่อความสบายใจและมั่นใจของลูกค้า  คาดว่า จะเริ่มให้บริการได้ภายในเดือนกรกฎาคม ขณะนี้ กำลังหารือเรื่องวงเงินที่จะกำหนดเอาไว้เป็นค่ากลาง ลูกค้าสามารถกำหนดได้ด้วยตัวเอง เป็นรายบุคคล นอกจากนี้ จะเน้นเรื่องให้ความรู้การใช้งานสมาร์ทโฟนว่ามีเครื่องมือ หรือมีแอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ อะไรบ้างที่ควรระมัดระวังเรื่องการใช้งาน คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์นับจากนี้ จะเห็นการรณรงค์เรื่องนี้จากสื่อทุกช่องทาง “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง ๆ สิ่งแรกที่ควรคำนึงก็คือ อย่าเชื่อทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจน หากไม่แน่ใจควรสอบถามจากคอลเซ็นเตอร์ของเอไอเอสโดยตรง”  ปัญหานี้ ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพราะเป็นระบบปฏิบัติการที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด. วิธีการตั้งรหัสผ่านโทรศัพท์ระบบแอนดรอยด์ก่อนซื้อของในกูเกิลเพลย์  เพื่อป้องกันเด็ก ๆ เผลอกดซื้อของในเกม วิธีการตั้งรหัสให้เข้าไปที่แอพ PlayStore สโตร์ผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต แล้วเลือกที่แท็บตรงมุมด้านบนซ้ายมือจากนั้นกดที่ การตั้งค่า > ต้องป้อนรหัสผ่านเพื่อสั่งซื้อ > เลือกที่สำหรับการสั่งซื้อทั้งหมดผ่านทางกูเกิลเพลย์ บนอุปกรณ์นี้จากนั้นก็ทำการกรอกรหัสผ่าน จีเมลเป็นการยืนยันรหัส เมื่อทำการตั้งค่าเช่นนี้แล้วเวลาที่กดซื้อคอนเทนต์ทั้งหมดผ่านกูเกิล ก็จะต้องทำการกรอกรหัสเพื่อยืนยันคำสั่งซื้อทุกครั้ง (โดยจะใช้เป็นรหัสจีเมลของเรา) ส่วนผู้ใช้ระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิล สามารถเลือกปิด In-App Purchases โดยตั้งค่าง่าย ๆ ไปที่ Settings >General >Restrictions > Enable Restrictions> In-App Purchases > OFF

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอไอเอสเตรียมกำหนดวงเงินซื้อแอพ

Posts related