จากผลงานวิจัยฉบับใหม่ของอีริคสันคอนซูเมอร์แล็บ ได้ทำการสำรวจกลุ่มผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกา เป็นการทำสัมภาษณ์กลุ่มคนสูงอายุ ซึ่งมีอายุระหว่าง 65-75 ปี จำนวน 30 คน ในซานฟรานซิสโก รวมถึงผู้สัมภาษณ์ In-House อีก 8 คน   ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร  พบว่า กลุ่มคนเหล่านี้ต่างมองว่า การได้รับข่าวสารต่าง ๆ มากขึ้น ตลอดจนมีการเข้าร่วมกลุ่มสร้างสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆในสังคมออนไลน์รอบตัวมากขึ้นนั้นช่วยทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่หลากหลายในช่วงวัยที่อายุมากแล้ว โดยแต่ละคนบอกว่า พวกเขารู้สึกมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับข่าวสารต่าง ๆ มากขึ้น มีความรู้สึกว่าเด็กลง และมีการเข้าร่วมกลุ่มกับบุคคลอื่นและสังคมรอบตัวมากขึ้น ตลอดจนได้รับรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในสังคมนี้ กล่าวได้ว่า เทคโนโลยีนั้นได้เข้ามามีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ นอกจากนี้งานวิจัยยังเผยให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารสามารถเชื่อมรอยต่อระหว่างวัยของผู้สูงอายุกับกลุ่มคนวัยรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยพวกเขาสามารถแชร์ความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี การสอน และการให้ความช่วยเหลือพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ตลอดจนเป็นการสร้างพื้นที่ตรงกลางภายในครอบครัว พัฒนาการของเทคโนโลยีต่าง ๆ ในปัจจุบัน ยังคงเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมจากการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนในกลุ่มวัยต่าง ๆ อีกด้วย โดยความเหลื่อมล้ำนี้ได้เริ่มเกิดขึ้นในกลุ่มของผู้สูงอายุเช่นกัน โดยเฉพาะผู้สูงวัยจำนวนมากที่ยังไม่มีการใช้งานสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือการบริการรูปแบบใหม่ ๆ สำหรับกลุ่มวัยที่ทำให้ผู้สูงอายุเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร คือ กลุ่มคนวัยรุ่นลูกรุ่นหลาน โดยเริ่มจากการพิมพ์แชต (Chat)และส่งรูปภาพนั่นเอง ทั้งนี้ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารดังกล่าวนั้นได้ลดการใช้งานในแบบของโทรศัพท์พูดคุยหรือวอยซ์ (Voice) และการใช้อีเมล (e-mail) โดยผู้สูงอายุมักมองว่า กลุ่มคนวัยที่อายุน้อยกว่าชอบที่จะสื่อสารด้วยการพิมพ์แชตมากกว่า นอกจากนี้ ด้วยหน้าจอที่ปรับขนาดใหญ่ขึ้นและการใช้งานที่ง่าย จึงทำให้แท็บเล็ต กลายเป็นอุปกรณ์ที่สร้างความดึงดูดใจให้กับกลุ่มคนวัย 65-75 ปี และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงวิดีโอคอล (Video Call) ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน นายบัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มคนสูงอายุมองว่า อุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอุปกรณ์การสื่อสารที่สมบูรณ์แบบ เพราะมันช่วยให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับกลุ่มเพื่อนสนิทและครอบครัว รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และการแชร์บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตในสไตล์หรือที่เป็นตัวตนของพวกเขาได้ดีอีกด้วย กิจกรรมของกลุ่มคนวัยนี้ถูกเติมเต็มด้วยการเชื่อมต่อกับลูกหลานและเพื่อน ๆ กิจกรรมอาสาสมัคร การเข้าสังคมร่วมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ความสนใจเฉพาะบุคคล ตลอดจนการเดินทางท่องเที่ยวของพวกเขาเอง.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แชตกลายเป็นการสื่อสารหลัก ระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลาน

Posts related