ช่วงต้นสัปดาห์ก่อน มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมศูนย์ครีเอต (CREATE : Campus of Research Excellence And Technological Enterprise) ร่วมกับกรรมการบริหารหลักสูตรสาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (http://www.tip.grad.chula.ac.th/)  แนวคิดน่าสนใจของศูนย์ครีเอต คือ แม้ว่าศูนย์นี้จะตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัย NUS  (National University of Singapore) แต่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง  ๆ ที่เน้นการทำวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรม อย่างเช่น ศูนย์ที่ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยและเยี่ยมชม คือ ศูนย์ที่ชื่อ ทูม-ครีเอต (TUM-CREATE http://www.tum-create.edu.sg/) เป็นความร่วมมือระหว่าง  Technische Universitไt Mnchen (TUM) จากเยอรมนี และ Nanyang Technological University (NTU) ของสิงคโปร์ ที่มุ่งเน้น “การวิจัยและการสร้าง” รถไฟฟ้า โดยมีโครงการหลัก คือ แท็กซี่ไฟฟ้า และมีจักรยานยนต์เป็นโครงการรอง  คำสองคำที่ผมเน้นในย่อหน้าข้างบน “การวิจัยและการสร้าง” เป็นคำสวยงามสองคำที่เขียนร่วมกันในเชิงหลักภาษาไทยก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร ไม่ผิดหลักไวยากรณ์ เขียนร่วมกันในเชิงความหมายก็ดูเหมือนจะไปด้วยกันได้ ไม่ผิดอะไรเช่นกัน แต่ที่ยากที่สุดก็เห็นจะเป็นการเขียนร่วมกันในเชิงการปฏิบัตินี่แหละครับที่ไม่ผิดอะไร แต่ยากนักถ้าจะเอาคำสองคำนี้รวมกันแล้วไปทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้  คณะเราโชคดีที่ได้มีโอกาสคุยกับผู้ช่วยนักวิจัยที่มีส่วนร่วมในการตะลุยสร้างรถแท็กซี่ไฟฟ้า (คันที่เห็นในภาพประกอบ) ซึ่งทำให้เราเข้าใจถึงวิธีคิดตั้งแต่การตั้งเป้าหมายจนถึงวิธีคิด วิธีทำ การลงมือทำ และการทำรายได้จากสิ่งที่ตัวเองทำ (ทั้งหมดนี้คือภาพร่างของกระบวนการสร้างนวัตกรรมในอุดมคติ) และต่อไปนี้ คือ รายละเอียดแนวคิด พร้อมทั้งสิ่งที่กำลังจะทำต่อไปของรถแท็กซี่ไฟฟ้าคันนี้ เฟลิกซ์   รูเมอร์ ผู้ช่วยนักวิจัยเล่าให้เราฟังถึงที่มาที่ไปของรถแท็กซี่ไฟฟ้าคันนี้ว่า ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก รถยนต์ส่วนบุคคลราคาแพง คนที่นี่ใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน (เรียกว่า  MRT เหมือนบ้านเรา) เป็นหลัก แต่รถไฟฟ้าใต้ดินก็ไม่ได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของสิงคโปร์ ทำให้คนยังใช้บริการรถแท็กซี่ในสิงคโปร์กันอยู่มาก ประกอบกับสิงคโปร์เป็นประเทศในเขตร้อนทำให้ต้องออกแบบรถแท็กซี่ไฟฟ้าขึ้นเป็นพิเศษ บางท่านอาจเริ่มตั้งคำถามว่า คำว่าเป็นพิเศษ เป็นพิเศษอย่างไรบ้าง ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่ทุกท่านพอเข้าใจได้ ก็อย่างเช่น ในบริเวณที่ผู้โดยสารนั่งอยู่ทางด้านหลัง แน่นอนว่า ถ้าเราต้องการประหยัดพลังงาน (รถไฟฟ้าครับ ทำให้ต้องสงวนพลังงานไว้เพื่อการขับเคลื่อนเป็นหลัก) เราต้องลดการใช้เครื่องปรับอากาศให้ได้ ทำให้ทีมออกแบบ ต้องออกแบบให้มีพัดลมติดตั้งไว้เหนือศีรษะผู้โดยสารและใต้เบาะผู้โดยสารทางด้านหลัง เพื่อให้ผู้โดยสารรู้สึกสบายโดยไม่ต้องปรับแอร์ให้แรงขึ้น  ในเรื่องการชาร์จแบตเตอร่ี ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะการชาร์จหนึ่งครั้งไม่อาจทำให้รถแท็กซึ่งสามารถวิ่งได้ทั้งวัน ดังนั้นระหว่างวันจึงต้องมีการชาร์จแบตเตอร่ี ทีมวิจัยจะต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เร็วขึ้น ก็เลยสร้างวิธีการชาร์จเร็วแบบสุด ๆ (Super-fast charging) ให้สามารถชาร์จได้ภายใน 15 นาที  นอกจากนี้ยังต้องออกแบบรถให้มีน้ำหนักเบาด้วยการใช้ตัวถังเป็น Carbon Fibre Reinforced Polymer แต่บริเวณด้านหน้ารถมีโครงเหล็กเพื่อป้องกันในกรณีเกิดการชน เพราะ ความจำเป็นประการหนึ่งคือ รถคันนี้เป็นรถต้นแบบแห่งการวิจัยที่ต้องนำไปใช้บนถนนจริง ดังนั้นส่วนที่ป้องกันในกรณีเกิดการชนด้านหน้า จึงต้องเป็นเหล็กตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์  ผมถามเฟลิกซ์มากขึ้นในสิ่งผมอยากรู้ว่า งานวิจัยที่ต้องตีพิมพ์ของเฟลิกซ์คืออะไร เพราะหน้าที่หลักของนักเรียนปริญญาเอกในบ้านเราและหลายแห่งทั่วโลกใบนี้คือ บทความที่ต้องได้รับการยอมรับให้เผยแพร่ในวารสารวิชาการ และดูเหมือนว่าหลายสิ่งหลายอย่างในรถคันนี้ ไม่ได้สร้างองค์ความรู้ที่เพียงพอสำหรับการเขียนบทความเพื่อตีพิมพ์  เฟลิกซ์ยิ้มเล็กน้อยแล้วตอบผมว่า  “เขาอาจจะจบช้าหน่อย เพราะภาระหลายอย่างที่ต้องทำเพิ่มเป็นเวลาที่เสียไปเพื่อสร้างสิ่งที่นำไปใช้ได้จริงสำหรับรถคันนี้ และมันตีพิมพ์ไม่ได้ แต่อย่างน้อย สิ่งที่เขาจะตีพิมพ์ก็นำไปใช้ได้จริง…แน่นอน” สุกรี สินธุภิญโญ (sukree.s@chula.ac.th) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แท็กซี่ไฟฟ้า – 1001

Posts related