เมื่อวันที่ 11 ก.พ. มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้จัดงานสัมมนาการปฏิรูปประเทศไทย เรื่อง ’การคอร์รัปชั่นและการผูกขาดทางเศรษฐกิจ” โดยเชิญวิทยากรที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพมาร่วมเสนอแนวคิด เพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศในการขจัดปัญหาการคอร์รัปชั่นที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยที่ได้คะแนนเพียง 35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 102 จาก 177 ประเทศ “เดือนเด่น นิคมบริรักษ์” ผู้อำนวยการวิจัยการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ บอกว่า ระบบการผูกขาดเศรษฐกิจถือว่าเป็นการคอร์รัปชั่นที่น่าเป็นห่วงมากในไทย ซึ่งเป็นการหาเงินได้เร็วและมากด้วย เนื่องจากผู้ให้หรือผู้ดูแลสัมปทานอาจมีส่วนได้เสียกับกิจการที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นพบว่าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มทุจริตมากที่สุดเกี่ยวกับโครงการหรือการให้สัมปทาน คือ โทรคมนาคม รองลงมาเป็น พลังงานและสาธารณูปโภค, การเกษตร และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง เพราะมีกลไกของภาครัฐเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา เช่น โครงการรับจำนำข้าว กิจการที่มีไม่กี่บริษัทประมูลข้าวได้ เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยกันหามาตรการในการสลายระบบการผูกขาดเศรษฐกิจ เพราะหากดำเนินการได้จะทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นทยอยลดลงตามไปด้วย เช่น การออกกฎหมายที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นและครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ รวมถึงความเข้มข้น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการเพื่อให้ภาครัฐมีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ด้าน “ผาสุก พงษ์ไพจิตร” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวยอมรับว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศ ทั้งนักการเมือง และข้าราชการ มีการเชื่อมโยงกับการคอร์รัปชั่นเพราะเป็นการสะสมทุนและความมั่งคั่งแก่ครอบครัว เพราะนักการเมืองหรือข้าราชการเป็นนักธุรกิจเสียเอง หรือไม่ก็มีครอบครัวประกอบธุรกิจ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าการทุจริตในเมืองไทยนั้นเกี่ยวข้องกับโครงการใหญ่ ๆ ที่มีทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ ให้สินบนกันจำนวนมาก และยังเกี่ยวข้องกับกระทรวงเกรดเอ ทั้งคมนาคม, ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เกษตรและสหกรณ์, ศึกษาธิการ, คลัง, มหาดไทย และตำรวจบางกลุ่ม เป็นต้น “จากการสำรวจในกลุ่มประชาชนที่ขึ้นโรงขึ้นศาลพบว่า 1 ใน 3 มีการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้ชนะคดี โดยในกลุ่มที่ใช้เงินพบว่า 50% บอกว่าจ่ายเงินแล้วสามารถได้ผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในเมืองไทยมีอยู่ในทุกวงการทั้งหน่วยงานราชการและกระบวนการยุติธรรม” เช่นเดียวกับ “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจเริ่มตื่นตัวมากกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น จากเดิมที่เฉย ๆ กับการคอร์รัปชั่นแต่ปัจจุบันเริ่มไม่เห็นด้วยมากขึ้น ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือคนในสังคมต้องผลักดันให้ภาคการเมืองเปลี่ยนแปลงทัศนคติในเรื่องนี้ ขณะที่ทีดีอาร์ไอกำลังเป็นห่วงการคอร์รัปชั่นที่ผูกขาดกับเศรษฐกิจเพราะหากไม่สามารถแก้ตรงนี้ได้เชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นยังมีต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด “อย่างไรก็ตามยอมรับว่างานของราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโครงการเล็กน้อย ๆ ไม่ค่อยมีการทุจริตมากนัก เช่น เรื่องการทำบัตรประจำตัวประชาชน และการทำพาสปอร์ต ซึ่งปัจจุบันสามารถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการอย่างมาก แต่ในส่วนของโครงการใหญ่ ๆ ตรงนี้ยอมรับว่ายังมีการทุจริตอยู่มาก” หันมาที่ภาคเอกชน “วิชัย อัศรัสกร” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในไทยส่วนใหญ่เป็นการใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่พรรคพวก รองลงมาเป็นการให้สินบน เพื่อให้ได้งานหรือโครงการ และการทุจริตเชิงนโยบายจากผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ว่าปัญหาหลักในการคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ดังนั้นยอมรับว่าการรณรงค์ต่อต้านเรื่องนี้ในกลุ่มนักการเมืองทำได้ยากมาก ซึ่งบางคนก็มายืนแถวหน้าในการรณรงค์การต่อต้านกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่เมื่อรณรงค์เสร็จแล้วบางรายก็กลับไปโกงต่อ ขณะที่ “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคิน-ภัทร กล่าวว่า การแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน นักธุรกิจ และนักการเมือง เพื่อให้ตื่นตัวกับการต่อต้านเรื่องนี้ และการแก้ปัญหาจำเป็นต้องอดทนเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาให้เร็วได้ แต่ในเบื้องต้นควรหามาตรการในการลดอำนาจ ขนาด และบทบาทของภาครัฐลง เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจทางการเมืองลงได้ ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องหาแนวทางกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้นด้วย เพราะจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้เงินได้มากขึ้น โดยแนวทางขจัดปัญหาคอร์รัปชั่นในไทย ต้องเริ่มจากการขับเคลื่อนจากประชาชนทั่วไปในการสร้างจิตสำนึก และกดดันคนทุจริตไม่ให้มีที่ยืนในสังคม เพราะหากให้นักการเมืองเป็นแกนนำ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้รับรองว่าวงจรนี้ไม่มีวันหมดไปจากเมืองไทยแน่นอน. มนัส แวววันจิตร
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนะคุมอำนาจธุรกิจผูกขาดสลายคอร์รัปชั่นนักการเมือง
Posts related
- ธุรกิจน้ำดื่มใสสะอาด เพราะชีวิตขาดน้ำไม่ได้!
- ธุรกิจเสื้อผ้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจส่งออกสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านดอกไม้กับความรัก ความยินดี และ ความสดชื่นของชีวิต
- ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ทที่พัก ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- ธุรกิจร้านกาแฟ คุณคิดว่าคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ จะมีสักกี่วันที่หยุดดื่ม? น่าลองขายนะ!
- ธุรกิจซักอบรีด รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจร้านเบเกอรี่ รูปแบบไหนดีที่สุด?
- ธุรกิจขายส่งสินค้า ดีไม?ดียังไง? ปัจจุบันมีกี่รูปแบบ?
- อาชีพเสริมรายได้เสริม เมื่อมีรายได้หลายทางย่อมดีกว่ารายได้ทางเดียว
- 10 อาชีพเสริมที่น่าสนใจ
- อาชีพเสริม ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้แล้วจะรวยตอนไหน?
- ธุรกิจสปา ดีไม?ดียังไง?
- ธุรกิจคาร์แคร์ ดีไม?ดียังไง?
- 6 รูปแบบธุรกิจออนไลน์ที่ใครก็ทำได้ง่ายๆ
- 5 Trendsของยุค2020ที่จะนำไปสู่ธุรกิจชั้นนำที่น่าสนใจ
- แบบทดสอบประเมินตัวคุณเป็นยังไงและควรจะทำธุรกิจแนวไหนดี
- ความแตกต่างระหว่างธุรกิจส่วนตัวกับอาชีพอื่นๆ
- จะเริ่มต้นขายของออนไลน์ได้อย่างไร
- 5 ขั้นตอนการเริ่มต้นเปิดร้านค้าออนไลน์
- เทคนิคในการเลือกธุรกิจแฟรนไชส์ที่น่าสนใจ
- ทำไมต้องธุรกิจแฟรนไชส์ ดียังไง
- 5 เทคนิคควรรู้ก่อนตั้งชื่อธุรกิจออนไลน์
- 5 สิ่งที่ต้องห้ามเมื่่ออยากทำธุรกิจส่วนตัว
- 7 เทคนิคพื้นฐานสร้างธุรกิจSMEให้รอด
- จะเริ่มต้นธุรกิจส่วนตัวยังไงเริ่มจากไหนดี?
- ทำไมจะต้องทำธุรกิจส่วนตัว?
- ความรู้เบื้องต้นความหมายธุรกิจSMEs