ไปไม่ได้ครับแก๊สไม่พอ ไปส่งรถครับ ไม่ไปครับ!!Ž เป็นประโยคที่ผู้ใช้บริการรถแท็กซี่อย่างเป็นประจำ มักได้ยินกันจนชินหู แม้ว่าเรื่องของการปฏิเสธผู้โดยสารไม่ว่ากรณีใดก็ตามจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่มีผู้ขับแท็กซี่ส่วนใหญ่ฝ่าฝืนอยู่เป็นประจำ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพมาตรฐานด้านงานบริการสาธารณะของเมืองไทยที่ไม่มี ประสิทธิภาพ ยิ่งถ้าถึงช่วงที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี กำลังนับเวลาถอยหลังเข้ามาอีกไม่นานจากนี้ หากไม่เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป หรือไม่เริ่มยกระดับมาตรฐานการบริการให้ลูกค้ารู้สึกอุ่นใจเมื่อใช้บริการแล้ว ความฝันที่วาดไว้จะเป็นศูนย์กลางการบริการของอาเซียน คงไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน  ดร.ฐิตารีย์ ไชยเศรษฐŽ หัวหน้าสาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกในรายการเศรษฐกิจติดจอ ทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ว่า ปัญหารถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะบรรดาผู้ขับแท็กซี่ที่คอยเอาเปรียบนักท่องเที่ยวยังมีอยู่มากในปัจจุบัน เรื่องนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทย และควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน เริ่มแรกอาจต้องสร้างจิตสำนึกของผู้ที่ขับแท็กซี่ก่อน สร้างมาตรฐาน สร้างตัวอย่างที่เป็นไปตามมาตรฐานที่มีอยู่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการได้รู้สึกถึงความปลอดภัย และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ขณะที่ภาครัฐเอง ตอนนี้ถือว่ายังไม่ได้มีความสำคัญอะไรมาก เพราะการจะยกระดับมาตรฐานการบริการได้ ต้องให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของเองปรับตัวเอง มองหาสิ่งใหม่ที่มีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้ว เช่นตัวอย่างของแท็กซี่ในประเทศญี่ปุ่น แต่งตัวดีใส่ชุดสูท ใส่ถุงมือ และมีเงินทอนทุกครั้ง โดยผู้ที่ใช้บริการไม่จำเป็นต้องพูดภาษาญี่ปุ่น หรืออังกฤษให้ได้ เพราะเมื่อเข้าไปใช้บริการจะรู้สึกถึงความปลอดภัย และสะดวกสบายมาก ส่วนไทยเองถ้าหยิบเอาตัวอย่างที่ดีอย่างนี้มาพัฒนาปรับปรุง ปรับโฉมแท็กซี่เดิม ๆ ของที่มีอยู่ใหม่ ก็ไม่ใช่เรื่องยากและสามารถทำได้ทันที แต่อยู่ที่ว่าจะเริ่มทำหรือยัง ซึ่งตอนนี้ก็หวังว่า ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสหกรณ์แท็กซี่ที่มีอยู่อย่างหลากหลายกลุ่มในเมืองไทยนั้น น่าจะมีกลุ่มสหกรณ์ใดสักสหกรณ์หนึ่ง นำร่องสร้างมาตรฐานที่ว่านี้ให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่าง และต่อไปเมื่อได้รับการยอมรับ เชื่อว่าทุก ๆ สหกรณ์คงต้องนำรูปแบบที่ว่านี้มาใช้ต่อแน่นอน และตอนนั้นคงเรียกได้ว่า แท็กซี่บ้านเรามีมาตรฐานแล้ว นอกจากนี้ในเรื่องของมารยาท อาจต้องแยกออกมามาตรฐานการบริการด้วย เพราะสิ่งนี้สร้างได้ด้วยจิตสำนึกการให้บริการที่แท้จริง ขณะที่กรณีการคิดค่าใช้จ่าย หรือการอ้างว่านำรถไปส่งคืน ถ้าเราตำหนิไปที่คนขับรถแท็กซี่หมดเลยคงไม่ได้ เพราะต้องย้อนไปดูด้วยว่า สาเหตุที่เขาต้องทำอย่างนั้นเพราะอะไร เรื่องนี้ผู้เป็นเจ้าของสหกรณ์แท็กซี่คงต้องไปหาทางแก้ โดยนัดผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมานั่งคุยกันว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ส่วนแบ่งค่าใช้จ่าย และส่วนแบ่งรายได้ที่มาสมเหตุสมผล ไม่กระทบต่อการบริการผู้โดยสาร เพื่อกำหนดให้คนขับแท็กซี่รับรู้ว่า เมื่อประกอบอาชีพนี้แล้วมีความยั่งยืนในอาชีพ อยากให้เอาสิ่งที่ทำได้จริงมาทำเสียก่อน เรื่องบริการนี้เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ต้องใช้กลไกรัฐเข้ามากำกับก็ทำได้ และอยากให้มีสหกรณ์ใดสหกรณ์หนึ่งทำเป็นโมเดลขึ้นมา ทำให้ดีเลย แล้วเมื่อถึงตอนนั้นผู้โดยสารคงเลือกใช้และรู้ว่าเมื่อได้รับบริการอย่างนี้แล้วก็อยากมาใช้บริการ อยากให้เราทำให้เรื่องของการบริการแท็กซี่บ้านเรานี้เป็นเรื่องที่เป็นปกติ เป็นธรรมชาติของการบริการ ที่มีอยู่แล้วกับตัวมันเอง ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทำอย่างไรให้ผู้มาใช้รู้สึกว่ามีความปลอดภัยการเดินทาง ง่ายกว่าไปคิดโครงการที่บ้านเราทำไม่ได้ อย่างเช่น แท็กซี่อัจฉริยะ กรุงเทพฯเมืองแห่งจักรยาน ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่ากรุงเทพฯไม่ใช่สถานที่ที่น่าขี่จักรยานอะไรเลยŽ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากลัวต่อจากนี้ หากประเทศไทยยังไม่ปฏิรูประบบการให้บริการประชา ชนทั้งระบบให้ได้มาตรฐาน คงอาจเสียประโยชน์จากการที่เปิด เออีซีไปแล้ว เพราะถึงเวลานั้นสิ่งที่เรายืนยันว่า พร้อม แต่เมื่อมี ผู้มารับการใช้บริการแล้ว เห็นว่า ไม่ใช่ เมื่อนั้นถ้าจะแก้อะไรคงไม่ทันอีกแล้ว ขณะเดียวกันการขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ หากในอนาคตรัฐบาลผลักดันก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้เสร็จจริง การกระจายคนไปยังต่างจังหวัดจะมีมากขึ้น เมืองใหญ่ในต่างจังหวัดจะเริ่มโต ส่วนกรุงเทพฯ คนจะอยู่น้อยลง คนใช้แท็กซี่ก็ลดน้อยลง ยิ่งถ้าคนรู้ว่าใช้แท็กซี่แล้วเจอการให้บริการเหมือนเดิม ตอนนั้นจะมาร้องก็คงสายไปแล้ว ดร.ฐิตารีย์Ž บอกทิ้งท้ายด้วยว่า การจะทำให้อาชีพบริการมีมาตรฐาน คุณภาพทัดเทียมชาติที่เจริญ เป็นตัวอย่างให้เรามาปรับปรุงนั้น คงเกิดขึ้นได้ถ้าเมืองนั้น หรือประเทศนั้น มีคนที่เห็นความเป็นคนเท่ากัน ให้รู้ถึงความสำคัญของกันและกัน ใช้โมเดลของการบริการจัดการตัวเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเอง จะมาอ้างว่าหน่วยงานภาครัฐไม่มาช่วยเหลือไม่ได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องตระหนักอย่างยิ่งยวด ถ้าจะยึดอาชีพบริการไว้คอยเลี้ยงชีพ. วสวัตติ์ โอดทวี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนะยกระดับแท็กซี่รับเออีซี – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related