นายวัลลภ พิชญ์พงศา อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเปิดเผยในงานเสวนา “ข้าวไทยในอาเซียน … ถึงทางตันแล้วจริงหรือ?”ว่า ต้องการให้ภาครัฐได้จัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทยระยะยาว5-10 ปีเพื่อผู้ส่งออกข้าว โรงสี สามารถวางแผนในการลงทุนหรือวางแผนในการตลาดและสร้างความเชื่อมั่นแก่ลูกค้าในต่างประเทศเนื่องจากที่ผ่านมาบรรดาพรรคการเมือง รวมถึงคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)มีการใช้นโยบายสั้นๆไม่เกิน 3-6 เดือนในการช่วยเหลือชาวนาเป็นหลัก จึงทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งโรงสีผู้ส่งออก และ ชาวนา ไม่สามารถวางแผนในระยะยาวได้“ตอนนี้บรรดานักการเมืองก็มีการถกเถียงกันระหว่างประกันรายได้กับการรับจำนำ แม้จะมีความประสงค์ดีที่จะให้ชาวนามีรายได้มากๆ แต่ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนในวงการข้าวไทยเนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะลงทุนระยะยาวได้ เพราะหากพรรคหนึ่งขึ้นมาก็จะยกเลิกนโยบายอีกฝ่ายหนึ่งหากมีนโยบายหลักในอนาคตนโยบายของพรรคการเมืองก็แค่มาเสริมช่วยเหลือชาวนาเฉพาะช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ” อย่างไรก็ตามเรื่องของการแทรกแซงราคานั้นภาคเอกชนยอมรับว่าภาครัฐก็ควรมีไว้โดยไม่ต้องยกเลิกทั้งหมดแต่ควรจะนำมาใช้ในช่วงที่ราคาข้าวตกต่ำ และไม่ควรใช้มากเกินไปเมื่อราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นแล้วก็ควรยกเลิกทันที เพื่อให้กลไกการตลาดสามารถขับเคลื่อนตามปกติ “ข้าวไทยในอาเซียนยังไม่ถึงทางตันแน่นอนหากภาครัฐมีการวางแผนเป็นนโยบายหลักของประเทศในการพัฒนาข้าวระยะยาวหรืออาจตั้งเป้าในการสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวให้มีคุณภาพสูงขึ้นเน้นตลาดระดับกลางและระดับบนเพื่อหนีคู่แข่งอย่างเวียดนามที่จะมาตัดราคากัน และไม่ต้องคำนึงว่าจะต้องทวงแชปม์ส่งออกข้าวให้ได้ปริมาณมากที่สุดในโลกคืนส่วนคุณภาพข้าวที่อยู่ในระดับกลางถึงระดับต่ำก็ค่อยทยอยเลิกส่งเสริมการผลิต” ทั้งนี้หากรัฐบาลมีแผนระยะที่ชัดเจนเหมือนพม่าเวียดนาม กัมพูชา โดยของไทยเน้นคุณภาพข้าวเชื่อว่าในอนาคตจะทำให้ไทยมีมูลค่าจากการส่งออกข้าวได้มากกว่าการเน้นปริมาณและที่สำคัญชาวนาก็มีรายได้ที่ดีขึ้นด้วย นายวัลลภ กล่าวว่าในปีนี้คาดว่าประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้ 8-8.5 ล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงโดยมีปัจจัยจากการไม่มีโครงการรับจำนำข้าวทำให้การค้าข้าวเป็นไปตามกลไกของตลาดและรัฐบาลเร่งระบายข้าวเพื่อนำเงินมาคืนคลังหลังจากที่มีการนำงบกลาง 20,000ล้านบาทมาจ่ายค่าข้าวแก่ชาวนา

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แนะรัฐวางแผนพัฒนาข้าวระยะยาว

Posts related