โดยที่แทบจะไม่รู้ตัวเลยนะครับว่ามันเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ทุกวันนี้ชีวิตของผมและคุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมหลายคน ถูกจำกัดให้จ้องมองอยู่แต่ภายในกรอบอิเล็กทรอนิกส์สี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ตั้งแต่จอมือถือและแท็บเล็ตเวลาอ่านข่าว จอคอมพิวเตอร์ขณะทำงาน และจอโทรทัศน์ในยามพักผ่อนกับครอบครัว แต่จนถึงวันนี้โลกดิจิทัลยังคงถูกปิดกั้นให้เป็นนามธรรม ให้มีตัวตนอยู่ได้เฉพาะในจออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ไม่สามารถที่จะกระโดดออกมานอกจอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของผนังห้อง อยู่บนโต๊ะทำงาน หรือ เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเราอย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้ แต่คุณผู้อ่านทราบไหมครับว่าเส้นแบ่งระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกแห่งความเป็นจริงนี้กำลังจะเลือนหายไป ด้วยความช่วยเหลือจากอุปกรณ์ที่หลาย ๆ คนก็คงจะรู้จักกันดี ซึ่งก็คือโปรเจคเตอร์หรือเครื่องฉายภาพนั่นเองครับ ที่ผมกำลังจะพูดถึงนี้ไม่ใช่เฉพาะโปรเจคเตอร์ตัวยักษ์ที่แขวนกันอยู่ตามห้องประชุมนะครับ แต่หมายถึงโปรเจคเตอร์ตัวเล็ก ๆ ที่เดี๋ยวนี้มีให้เลือกซื้อหากันมากมายและก็ถูกฝังอยู่ในอุปกรณ์ขนาดเล็กหลายอย่าง เช่น สมาร์ทโฟน Samsung Galaxy Beam เป็นต้น โดยผลการสำรวจตลาดจาก Markets and Markets ของสหรัฐอเมริกา พบว่าภายในปีค.ศ. 2014 นี้น่าจะมีโปรเจคเตอร์ขนาดเล็กหรืออุปกรณ์ขนาดเล็กฝังโปรเจคเตอร์อยู่ในท้องตลาดถึง 39 ล้านเครื่องเลยล่ะครับ เพียงแค่เราใช้โปรเจคเตอร์เล็ก ๆ เหล่านี้ฉายภาพออกมา ข้อมูลในโลกดิจิทัลก็สามารถโดดออกมาเนียนอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งของรอบตัวเราได้แล้ว แต่เพียงแค่นี้มันยังไม่พอครับ ในยุคที่อุปกรณ์อะไร ๆ ก็ฉลาดไปเสียหมด โปรเจคเตอร์เองก็ต้องฉลาดเป็นสมาร์ทโปรเจคเตอร์กับเขาด้วย ไอเดียของสมาร์ทโปรเจคเตอร์ขนาดเล็กนี้เปิดตัวอย่างโด่งดังไปทั่วโลกเมื่อปีค.ศ. 2009 โดยนาย Pranav Mistry ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของ Samsung ในสหรัฐอเมริกา แต่ย้อนไปเมื่อปีค.ศ. 2009 เขายังเป็นเพียงนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัย MIT ในสหรัฐอเมริกาที่นำเสนอโปรเจคชื่อ “SixthSense” แปลเป็นไทยว่า “สัมผัสที่หก” โปรเจคนี้อาศัยเพียงแค่โปรเจคเตอร์และกล้องเว็บแคมขนาดเล็กอย่างละตัว เพื่อแปลงให้พื้นผิวรอบตัว แม้แต่ฝ่ามือของเราเองกลายเป็นเสมือนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ระบบสัมผัสได้ แสดงภาพได้และยังกดปุ่มที่ฉายออกมาเพื่อสั่งงานได้ด้วย โดยที่แน่นอนครับ ว่าไม่มีการผ่าตัดฝังชิพหรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใด ๆ ลงในฝ่ามือทั้งสิ้น โปรเจคสัมผัสที่หกนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นครับ มีโปรเจคอีกมากมายที่นำเสนอประโยชน์ของโปรเจคเตอร์ฉลาดขนาดเล็กนี้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ช่องว่างระหว่างวัตถุดิจิทัลและวัตถุจริงที่จับต้องได้ลดแคบลงเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น โปรเจค ipProjector จากมหาวิทยาลัยโตเกียวที่นำภาพโปสเตอร์หรือแผ่นพับเก่าที่ข้อมูลล้าสมัยแล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยฉายข่าวสารล่าสุดให้เคลื่อนไหวอัพเดตลงบนพื้นผิวโปสเตอร์ส่วนที่ยังว่างอยู่ หรือล่าสุดในปีค.ศ. 2013 โปรเจคชื่อ HideOut ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์ วอลท์ดิสนีย์ และมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (CMU) ของสหรัฐอเมริกา ได้ใช้หมึกพิเศษที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าพิมพ์เครื่องหมายพิเศษไว้บนหนังสือนิทานและเกมส์กระดาน ทำให้มันสามารถกลายเป็นเวทีที่ตัวละครสามมิติที่ฉายจากโปรเจคเตอร์ขนาดเล็กสามารถออกมาโลดแล่นเล่าเรื่องราวและเล่นเดินเกมส์ให้เด็ก ๆ ดูได้ เหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ที่มนุษย์เราคิดค้นขึ้นมาเพื่อหลอมรวมโลกดิจิทัลให้เข้ากับสิ่งของในชีวิตประจำวันเรา จนวันนึงเราอาจจะถึงกับแยกไม่ออกเลยล่ะครับว่าที่เห็นอยู่นี้ อันไหนคือดิจิทัล อันไหนคือของจริง สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นจากโปรเจคเตอร์ฉลาดเหล่านี้คือ ความพยายามในการแสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่าง ไม่ใช่การพยายามเอาชนะและแทนที่ทุกสิ่งด้วยดิจิทัล แต่เป็นการอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยนำข้อดีมาเสริมข้อด้อยของกันและกัน แม้โลกดิจิทัลจะสำคัญมากแค่ไหน แต่มนุษย์เราสุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมามีชีวิตอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่ดี คุณผู้อ่านว่าจริงไหมครับ .   ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต  chutisant.k@rsu.ac.th         

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : โลกดิจิทัลยุคใหม่ไร้หน้าจอจำกัด – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related