ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง 10 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปภายในสองสัปดาห์นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา มีผลให้ราคาน้ำมันในบ้านเราลดลงไป 1.50 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันในกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และ 1.50 บาท/ลิตรสำหรับน้ำมันดีเซล แต่หลายท่านยังบ่นว่าลดน้อยเกินไป ก็คงเป็นเพราะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันไปบางส่วน แทนที่จะลดให้ประชาชนทั้งหมดนั่นเอง

ทำไมราคาน้ำมันจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นขาลงอย่างรวดเร็วอย่างนี้ โดยราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลงไปอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี WTI ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี น้ำมันเบนซินและดีเซลที่ตลาดสิงคโปร์ลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงในครั้งนี้มีอยู่เรื่องเดียว คือ มาจากปัจจัยพื้นฐานเกี่ยวกับความต้องการ และการจัดหาน้ำมันในตลาดโลกนั่นเอง

โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับลดการคาดการณ์ความเติบโตของเศรษฐกิจโลกทั้งในปีนี้และปีหน้าลดลงจากเดิม ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าลงของจีน ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในยุโรป และการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ทำให้องค์กรและสถาบันด้านพลังงานของโลกอย่างเช่น IEA, EIA และ OPEC พากันลดประมาณการความต้องการน้ำมันของโลกทั้งในปีนี้และปีหน้าลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์เอาไว้ค่อนข้างสูงตรงกันข้ามกับการจัดหา ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกกลับผลิตน้ำมันได้มากขึ้น โดยสหรัฐผลิตน้ำมันดิบได้มากที่สุดในรอบเกือบ 30 ปี รัสเซียก็ทำสถิติผลิตน้ำมันดิบสูงสุดได้ในเดือนที่แล้ว และกลุ่มโอเปกก็ผลิตน้ำมันดิบออกมามากกว่าโควตาที่กำหนดไว้ จากการที่ลิเบียกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้เหมือนเดิมแล้ว

ทำให้เกิดสภาพน้ำมันล้นตลาดขึ้น สหรัฐซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก ได้ลดปริมาณนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากตะวันออกกลางลง ทำให้ประเทศในกลุ่มโอเปกต้องผลักดันน้ำมันส่วนเกินมาขายยังตลาดในแถบเอเชีย ความต้องการน้ำมันจากจีนและญี่ปุ่นก็ลดลง ทำให้เกิดสงครามราคาระหว่างผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในกลุ่มโอเปกคือ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และอิรัก

ผลของสงครามตัดราคายิ่งทำให้ราคาน้ำมันลดต่ำลง จึงทำให้กองทุนป้องกันความเสี่ยง (Hedge Fund) และกองทุนเก็งกำไรต่าง ๆ พากันเทขายสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า ที่กองทุนเหล่านี้ถือครองเอาไว้เป็นจำนวนมากออกมา จึงยิ่งกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลงไปอีกอย่างรวดเร็วและรุนแรงสถานการณ์อย่างนี้นักวิเคราะห์คาดว่า น่าจะยืดเยื้อไปจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในราวปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะตรงกับกำหนดการประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 27 พ.ย. พอดี ซึ่งกลุ่มโอเปกอาจมีการพิจารณาทบทวนโควตาการผลิตในการประชุมครั้งนี้

ดังนั้นรัฐบาลน่าจะฉวยโอกาสที่ราคาน้ำมันกำลังเป็นขาลงนี้ รีบปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบโดยรีบด่วน เพราะจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคมากนัก ถ้าไม่ทำตอนนี้ แต่ไปทำตอนราคาน้ำมันกลับมาสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปี ก็จะเกิดผลกระทบที่สูงขึ้นอันอาจนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์และการคัดค้านที่รุนแรงได้

แล้วอย่ามาหาว่าผมไม่เตือนไม่ได้นะ.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : โอกาสทอง – พลังงานรอบทิศ

Posts related