ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีแอพพลิเคชั่นน่าสนใจต่าง ๆ เกิดใหม่มากมายนะครับ แต่ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปขนาดนี้ แบตเตอรี่ที่ใช้กลับพบปัญหาต้องชาร์จบ่อยขึ้นในแต่ละวัน ผมยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัด ๆ เลยก็คือใครใช้ไอโฟนแล้วหลงอัพเดทเป็น iOS 7 ไปเพราะอยากได้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ ของตัว iOS ก็ต้องมาประสบปัญหาที่ไม่คาดคิด คือ แบตเตอรี่หมดไวอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนบางคนอยากจะขอดาวน์เกรดกลับไปใช้ iOS 6 เลยก็มี ซึ่งวิธีแก้แบตฯมือถือหมดเร็วถามว่าทำอย่างไรดี บางคนบอกก็ใช้มือถือเท่าที่จำเป็นสิ หรือบางคนบอกก็กลับไปใช้มือถือ 2G สิ ก็คุยโทรศัพท์ได้เหมือนกัน คิดมุมนึงก็ดูเหมือนจะจริงนะครับ แต่ว่าก็ต้องเข้าใจว่าบางคนก็มีธุระที่ต้องใช้มือถือตลอดเวลาจริง ๆ หรือบางคนก็จำเป็นต้องใช้อินเทอร์ เน็ตจากเครื่องมือถือสมาร์ทโฟนในการทำ งานอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการพูดอย่างนั้นก็คงจะไม่ถูกซะ   ทีเดียว ถ้าจะตอบให้ใกล้เคียงกับโลกความเป็นจริงมากขึ้น ก็อาจจะตอบว่าให้ปิดการใช้งานฟีเจอร์ที่ไม่จำเป็นออกซะ ใช้เฉพาะฟีเจอร์เท่าที่จำเป็น เช่น ของไอโฟน iOS 7 ก็ปิดการทำงานแอพพลิเคชั่น ที่ทำงานแบบเบื้องหลังต่าง ๆ (Background mode) รวมไปถึงปิดฟีเจอร์อัพเดทแอพพลิเคชั่นอัตโนมัติ (Automatic updates) ที่แม้ว่าจะช่วยเพิ่มความสะดวก ในการใช้งานอัพเดทโปรแกรมต่าง ๆ ได้อัตโนมัติก็จริง แต่ก็สิ้นเปลืองแบตเตอรี่ใช่น้อย หรือแม้แต่การเปิด Reduce Motion เพื่อลดเอฟเฟกต์พิเศษของพวกไอคอนที่เคลื่อนไหวต่าง ๆ  ลง ที่แม้จะดูสวยแต่ว่าความสวยนั้นมันบริโภคแบตเตอรี่ของเราให้หมดอย่างรวดเร็วเลยครับ วิธีที่ผมยกตัวอย่างไป พวกนี้สรุปสั้น ๆ เข้าใจง่าย ๆ ก็คือฟีเจอร์อันไหนไม่จำเป็นก็ปิดไปให้หมด ใช้เท่าที่จำเป็น เป็น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งช่วยยืดเวลาในการใช้งานมือถือต่อการชาร์จหนึ่งครั้งได้จริง ซึ่งผมก็เห็นหลายคนใช้วิธีเฉพาะหน้านี้อยู่ แต่ทั้งนี้ก็ต้องบอกกันนะครับว่าแม้วิธีเหล่านี้จะช่วยให้แบตเตอรี่หมดช้าลงจริง แต่ก็ไม่ได้ช่วยอย่างมีนัยสำคัญอะไรมากมาย ประเด็นของผมคือถ้ามองในมิติมุมมองของผู้ใช้ วิธีนี้ก็ถือว่าใช้ได้ครับ ซื้อมาแล้วก็ต้องใช้ต่อไป มีปัญหาก็หาทางแก้กันไปตามสภาพ แต่ถ้ามองในมิติภาพรวมหรือมิติของผู้ผลิต ผมกลับมองว่ามันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุสักเท่าไหร่ คล้ายกับการบอกว่าก็อย่าไปใช้เลยมือถือ ใช้เท่าที่จำเป็นก็พอ เพราะสำหรับผู้ผลิตถ้าคุณผลิต iOS ใหม่ออกมามีการเพิ่มความสามารถต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาการกินแบตเตอรี่อย่างมหาศาลนี้ได้ ผมคิดว่างานนี้คนผลิตไม่สามารถพูดว่าตนเองประสบความสำเร็จได้อย่างเต็มปากเท่าไหร่นัก เปรียบเสมือนรถแข่งสุดพิเศษที่สามารถทำได้ทุกอย่าง วิ่งเร็วมาก แต่ขับรถได้หนึ่งกิโลเมตรแล้วน้ำมันหมดไม่เป็นท่า แพ้แม้กระทั่งคนที่วิ่งตามมา ฉันใดก็ฉันนั้น ซึ่งวิธีที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากกว่าและแก้ปัญหาระยะยาวได้ก็คือ การสร้างแบตเตอรี่ที่ทนทาน ชาร์จแล้วใช้งานได้ยาวนานขึ้น ถ้าถามว่าทำได้ไหม ก็ขอตอบว่ามีคนพยายามทำกันอยู่ครับ อย่างเมื่อเดือนก่อนนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้นำเสนอแบตเตอรี่แบบ Lithium air หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า Li-air โดยในงานวิจัยของ MIT บอกว่าแบตเตอรี่แบบ Li-air จะใช้งานได้ยาวนานกว่าแบบ Li-on แบบเดิมถึงสามเท่า หลักการทำงานคือใช้ออกซิเจนมาทำปฏิกิริยาเคมีเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าในตัวแบตเตอรี่ ทำให้แบตเตอรี่สามารถสะสมพลังงานไฟฟ้าในตัวให้เพิ่มขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งกระบวนการผลิตนั้นจะใช้เทคนิควิศวกรรมศาสตร์ทางพันธุกรรม แก้ไข DNA เพื่อพัฒนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา โดยไวรัสตัวนี้จะมีความสามารถในการเปลี่ยนก๊าซอออกซิเจนในอากาศเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันทาง MIT ได้ประกาศความสำเร็จในการสร้างแบตเตอรี่แบบ Li-air ตัวนี้ออกมาแล้ว แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์แบบซะทีเดียว เห็นไหมครับว่าโลกศตวรรษที่ 21  นี้ มีอะไรแปลกใหม่ให้ติดตามตลอดและแม้ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ เราก็หนีเทคโนโลยีหนีนวัตกรรมไม่พ้น เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าจะดีกว่านะครับถ้าเรารู้จักเรียนรู้เทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเราและสังคมของเรา. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไวรัสยืดอายุแบต – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related