จากนโยบายของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการให้การศึกษาเดินหน้าสู่การสร้าง การพัฒนา เตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นผลจากการปฏิวัติด้านดิจิทัล (Digital Revolution) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่ทำให้โลกทั้งโลกเชื่อมโยงและสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาให้คนเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสามารถ มีทักษะ ความถนัด ความชำนาญพร้อมจะขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) จึงมีแนวคิดจัดทำห้องเรียนแบบ สมาร์ท คลาสรูม ซึ่งห้องเรียนดังกล่าว เป็นการเรียนการสอนผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยใช้ช่องทางของระบบการสื่อสารและอินเทอร์เน็ต ผู้เรียนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตเข้าไปเรียนในเว็บไซต์ ที่ออกแบบกระบวนการเรียนการสอนให้มีสภาพแวดล้อมคล้ายกับเรียนในห้องเรียนแบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและผู้เรียนกับผู้เรียน โดยมีบรรยากาศเสมือนพบกันจริง กระบวนการเรียนการสอนจึงไม่ใช่การเดินทางไปเรียนในห้องเรียนแต่เป็นการเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาของบทเรียนได้โดยผ่านคอมพิวเตอร์ นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) อธิบายว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำร่องจัดทำห้องเรียนแบบ สมาร์ท คลาสรูม หรือห้องเรียนที่ใช้อุปกรณ์ไอซีทีมาช่วยจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบขึ้นมา โดยรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องการให้ศึกษาข้อดีและข้อเสีย และดูว่า สมาร์ท คลาสรูม ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนอย่างไร เพื่อนำผลการศึกษามาเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจว่าจะดำเนินการโครงการจัดสร้าง สมาร์ท คลาสรูม ในโรงเรียนทั่วไปหรือไม่ ทั้งนี้ สพฐ.กำลังจัดทำคุณลักษณะของ สมาร์ท คลาสรูม ต้นแบบอยู่ว่า จะมีรายละเอียดอย่างไร โดยศึกษาจาก สมาร์ท คลาสรูม ของต่างประเทศซึ่งมีใช้มาระยะหนึ่งแล้ว เบื้องต้น สพฐ.ตั้งใจว่าจะนำร่องพร้อมกันทั้ง 5 ภูมิภาค รวมทั้งหมด 20 โรงเรียน เฉลี่ยภูมิภาคละ 4 โรงเรียน ครอบคลุมทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และครอบคลุมโรงเรียนทุกประเภททั้งโรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และโรงเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์จัดการศึกษาระดับเด่นและระดับด้อย ทั้งนี้ เพราะ สพฐ.ต้องการเปรียบเทียบว่าการนำ สมาร์ท คลาสรูม ใช้ส่งผลต่อนักเรียนของโรงเรียนแต่ละประเภทอย่างไร “ถ้านำร่อง สมาร์ท คลาสรูม แล้วพบว่าส่งผลให้นักเรียนในโรงเรียนกลุ่มด้อยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้นชัดเจน ก็จะเป็นตัวเร่งให้ขยายผลโครงการนี้ แต่ถ้าพบว่าผลการเรียนไม่แตกต่างกันก็ถือว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สพฐ.กำลังคัดเลือกโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการอยู่ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับความพร้อมของครูและผู้บริหารเป็นอันดับแรก เพราะเราพบว่าที่ผ่านมามีการจัดสรรเทคโนโลยีให้กับโรงเรียนไป แต่บางโรงเรียนให้ไปก็นิ่งสนิท เพราะครูและผู้บริหารโรงเรียนไม่พร้อม จึงต้องดูความเต็มใจของครูและผู้บริหารเป็นประเด็นแรก เพราะฉะนั้น การคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการนำร่อง จะใช้วิธีให้โรงเรียนสมัครเข้าร่วมโครงการด้วยตนเอง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการโครงการนี้ได้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557” นายอภิชาติกล่าว ทั้งนี้เป้าหมายของห้องเรียนดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถเข้าถึงและได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับคำกล่าวที่ว่า “ถ้าคุณไม่ได้เข้าชั้นเรียนบางทีอาจจะทำให้คุณเรียนได้ไม่มาก” ตลอดจนการพัฒนาโอกาสของการเข้าถึงการศึกษาในอนาคต. อุทิตา รัตนภักดี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ไอเดียเจ๋งผุดห้องเรียนไอที – ฉลาดทันกาล

Posts related