เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอล ความต้องการใช้งานดาต้าก็ต้องเพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งไม่เพียงแค่ใช้เพื่อการติดต่อสื่อสารหรือเก็บรวบรวมข้อมูลเท่านั้น นายฮิวเบิร์ต โยชิดะ รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายเทคโนโลยี (ซีทีโอ) บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ คอร์ปอเรชั่น เล่าว่า ปัจจุบันการใช้งานดาต้าเพิ่มมากขึ้นทั้งจากมือถือและอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆมากมาย ซึ่งทั้งหมดจะรวมถึงการตอบโจทย์ธุรกิจในวงกว้างด้วย ทั้งนี้ จะเห็นว่าองค์กรขนาดใหญ่ หากขาดระบบแบ๊กอัพดาต้าหลังบ้านที่ดี มีประสิทธิภาพ เพียงแค่ขาดการเชื่อมต่อข้อมูลเพียงไม่กี่นาทีก็จะทำให้สูญเสียเม็ดเงินมหาศาลได้ ดังนั้น บริษัทฯ จึงเร่งปรับภาพลักษณ์องค์กรพร้อมสื่อสารให้ตลาดรับรู้ว่ามีตำแหน่งทางการตลาดเป็นโซลูชั่น โพรไวเดอร์ ที่มีฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการครบวงจร ที่ตอบสนองความต้องการลูกค้ายุคปัจจุบัน “ภาพเดิม ๆ จะเป็นเพียงบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสตอเรจ โดยบริษัทแม่วางทิศทางธุรกิจโดยใช้เทรนด์บิ๊กดาต้า การวิเคราะห์ และการบริหารจัดการข้อมูลเป็นตัวชูโรง ในภาพรวมจะผลักดันให้ลูกค้านำไอทีไปพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้ได้มากที่สุด ดังนั้น บริษัทฯ จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยลดต้นทุนแต่ให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นและสร้างรายได้ ล่าสุดเปิดตัว “คอนทินิวอัส คลาวด์ อินฟราสตรักเจอร์ (Continuous Cloud Infrastructure) หรือ ซีซีไอ โซลูชั่นเชิงเวอร์ชวลไลเซชั่น ช่วยวางแผนพัฒนาคลาวด์ บริหารจัดการสตอเรจและระบบบริหารจัดการโดยไม่ต้องผูกติดกับฮาร์ดแวร์ ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ทำงานได้เร็วกว่ารุ่นเดิมถึง 3 เท่า ด้านนายมารุต มณีสถิตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ พีทีอี ลิมิเต็ด เล่าว่า บริการคลาวด์ในไทยมีการแข่งขันที่รุนแรง ผู้ให้บริการไอทีรายใหญ่ทุกรายพร้อมเข้าแข่งขัน หลังมีรัฐบาลพบว่าบรรยากาศการลงทุนในประเทศดีขึ้น ลูกค้าเริ่มตื่นตัวลงทุน ทั้งนี้ แม้ภาพรวมการลงทุนไอทีในตลาดไทยครึ่งปีแรกจะชะลอ แต่บริษัทฯ ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย และตั้งเป้าว่าปิดปี 2557 จะเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก สำหรับปัจจัยที่ทำให้เราเติบโตได้ต่อเนื่องเช่นเดียวกับปีก่อนหน้าจะมาจากการมีสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาด ลูกค้าเดิมอัพเกรดระบบ พร้อมมองหาโอกาสกับลูกค้าใหม่ และเข้าไปบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ ที่มาแรงเช่นดิจิตอลมีเดียและทีวีดิจิตอลชดเชย อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าทีวีดิจิตอลที่บริษัทฯ จะเข้าไปประมูลระบบนั้น ถือว่ามีรายอื่น ๆ เข้าแข่งขันด้วย แต่ด้วยความล่าช้าและปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยังไม่ลงทุนอะไรมากนัก และอีกอย่างบางองค์กรมีระบบเดิมอยู่แล้ว เพียงรอความชัดเจนก่อน แต่บริษัทก็หวังที่จะเข้าไปเป็นผู้ติดตั้งระบบให้ทุกราย “นับตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 57 จนถึงปัจจุบันมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 25% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มราชการที่ไม่ต้องรอผู้บริหารระดับสูงอนุมัติในวงเงินน้อยกว่า 50 ล้านบาท แต่จากนี้มีผู้อนุมัติงบประมาณระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไปชัดเจนแล้ว บริษัทฯ จะเข้าไปแข่งขันในตลาดนี้แน่นอน” สำหรับสัดส่วนกลุ่มลูกค้าหลัก ประกอบด้วยธุรกิจโทรคมนาคม ภาครัฐ และการเงินการธนาคาร สัดส่วนมาจากสตอเรจ 75% เซิร์ฟเวอร์ 10% ซอฟต์แวร์โซลูชั่น 15% จะเห็นดังตัวอย่างที่ผ่านมา เมื่อเว็บหรือระบบออนไลน์องค์กรใดองค์กรหนึ่งล่มเพียงไม่กี่นาที ก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแม้แต่คนที่เสพข่าวผ่านโซเชียล แต่นักธุรกิจที่ทำเงินผ่านโซเชียลมีเดีย นั่นหมายถึงการสูญเสียเงินมหาศาล. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ซีซีไอ’ ตัวช่วยการลงทุน ไอที-คลาวด์

Posts related