ขึ้นชื่อว่าโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็จะสามารถรับรู้ข่าวสารได้ทันที และด้วยตลาดอีคอมเมิร์ซมีการเติบโต เราสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา  นางสมจิตต์  ธีระชุติกุล   ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักการตลาด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ปัจจุบันการใช้งานไอซีทีของเด็กและเยาวชนมีการนำไปใช้อย่างไม่สร้างสรรค์ ไม่เกิดประโยชน์  โดยปีที่ผ่านมา ทีโอที ได้จัดทำโครงการ “ทีวายซี (TYC ) เด็กไทยมีดี  ใช้ไอทีเพื่อชุมชน” จำนวน 11 ชุมชน ที่ไม่ใช่แค่ใช้ไอทีถูกวิธี แต่ต้องเกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชนของตนเองอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การเกิดกิจกรรมซีเอสอาร์ (CSR)สมัยก่อน จะเน้นมอบสิ่งของ สร้างอาคาร ฯลฯ ให้กับชุมชน พื้นที่ห่างไกลแล้วก็จบ แต่โครงการดังกล่าว ทีโอที จะเน้นการมีส่วนร่วม พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม อย่างยั่งยืนโดยใช้ไอซีที ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   สำหรับ ทีวายซี มีชุมชนต้นแบบ 11 ชุมชน ครบทุกภาค ประกอบด้วย ชุมชนบ้านบอม จ.ลำปาง  ชุมชนบ้านกร่าง จ.พิษณุโลก ชุมชนบ้านสำราญ จ.ขอนแก่น ชุมชนบ้านกุดชุมแสง จ.ชัยภูมิ ชุมชนบ้านรางไม้แดง จ.ราชบุรี ชุมชนบ้านโพ จ.พระนครศรีอยุธยา  ชุมชนบ้านดง จ.นครนายก ชุมชนบ้านช่องแสมสาร จ.ชลบุรี ชุมชนบ้านเกาะบูโหลน จ.สตูล ชุมชนบ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช  และชุมชนบ้านบางเพรียง จ.สมุทรปราการ ทั้งนี้ ได้ขยายการดำเนินงานไป 3 ชุมชนใหม่คือ ชุมชนตำบลทรายขาว ต.ทรายขาว อ.โคกโพธิ์  จ.ปัตตานี  ชุมชนตำบลตะปอเยาะ   ต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และชุมชนตลาดสามชุก ต.สามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ในส่วนของการดำเนินงานคือ เน้นการพัฒนาความรู้ และทักษะการใช้ไอซีทีอย่างสร้างสรรค์ให้กับเด็กและเยาวชน โดยการพัฒนา เด็ก โรงเรียน ชุมชน สถาบันการศึกษา ผู้นำชุมชน มีการบูรณาการแบบมีส่วนร่วม หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลชุมชน ในระดับชุมชน และระดับประเทศ “เราจะร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นจัดอบรมในการใช้ไอซีที ตั้งแต่การถ่ายภาพและตกแต่งภาพ การถ่ายทำและตัดต่อวิดีโอ ทำสื่อออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก  ยูทูบ เว็บไซต์   และทีโอที อี-มาร์เก็ต (TOT e-market) เพื่อการส่งเสริมประชาสัมพันธ์ชุมชนของตนเอง”  ในส่วนของการดูแลเฟซบุ๊กของชุมชน นั้น เยาวชนจะต้องนำข้อมูลสินค้าโอทอปของชุมชน ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่น มาประชาสัมพันธ์บนเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตอบข้อซักถามต่าง ๆ จากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม เว็บเพจของชุมชน ส่วนยูทูบ จะต้องมีผลงานด้านการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการทำวิดีโอที่เป็นสารคดี การทำวิดีโอแนะนำสินค้า หรือการทำเป็นภาพยนตร์โฆษณา เพื่อการโปรโมตชุมชนของตนเองทั้งแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่พัก ภูมิปัญญาท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยทีโอทีอยู่ระหว่างคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาเสนอขายผ่านเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม ในการต่อยอดชุมชนเดิม มีแนวทางในการสร้างความยั่งยืนด้วยการสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน คือ การสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยใช้ช่องทางของศูนย์บริการลูกค้าของทีโอทีกว่า 300 แห่ง ในการวางขายสินค้าของชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ บวกกับการขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊ก  สำหรับขั้นตอนในการขายผ่านเฟซบุ๊ก    ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เนื่องจากปัจจุบันมีการขายสินค้าผ่านช่องทางนี้จำนวนมาก ทีโอที จะนำแอพพลิเคชั่นบริหารจัดการงานขายมาช่วยให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยมี 5 ขั้นตอนคือ สอบถามสินค้าผ่าน อินบ็อกซ์  สั่งจองสินค้า ชำระเงิน, โอนเข้าบัญชีหรือผ่านบัตรเครดิต แจ้งสถานะการชำระเงิน ใส่ข้อมูลที่อยู่เพื่อจัดส่งสินค้า  ส่งออร์เดอร์ ให้ร้านค้าเพื่อจัดส่งข้อมูลเข้าระบบ  นอกจากนี้ ทีโอที ยังมีกิจกรรมพิเศษโดยพาพาร์ทเนอร์แต่ละกลุ่มเข้าไปสัมผัสกับชุมชนต่าง ๆ ตามไลฟ์สไตล์การชื่นชอบ เพื่อต่อยอดการท่องเที่ยวและกระตุ้นการซื้อสินค้าในแต่ละชุมชน โดยที่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดี หากคิดเป็นมูลค่าการซื้อขายแล้วหลักหลายล้านบาท ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย  ผู้สนใจสามารถเข้าไปเลือกชมคลิปวิดีโอ บนยูทูบที่แนะนําแหล่งท่องเที่ยว กว่า 34 คลิป 11 เว็บไซต์ ที่ https://www.facebook.com/TOTyoungclubpage เพื่อลิงก์ไปยังเว็บเพจของแต่ละชุมชนต่อไป ถึงแม้ว่าเม็ดเงินการซื้อขายออนไลน์ของชุมชนแต่ละชุมชนจะยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เชื่อว่าหากได้รับการเผยแพร่ มีการดึงจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครมานำเสนอ อีกไม่นานชุมชนนั้น ๆ จะกลายเป็นชุมชนที่มีชื่อเสียง มีคนรู้จักทั่วโลก เพราะ ทีโอที อยู่ระหว่างจัดทำเว็บไซต์ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษออกมาเผยแพร่ด้วย. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ทีโอที’ ติวเข้มเด็กไทยทำเว็บซื้อขายสินค้าชุมชน – ช็อปฉลาดตลาดอัจฉริยะ

Posts related