การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายให้โตตามเป้าหมายที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งไว้ 2% ในปีนี้ คงเหลือเพียงทางเลือกเดียว… คือ การเร่งใช้จ่ายงบประมาณให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ทั้งงบประมาณเดิมที่ยังค้างท่อ และงบประมาณรายจ่ายก้อนใหม่ที่จะออกมาในต้นเดือน ต.ค.57 ซึ่งเป็นช่วง 3 เดือนสุดท้าย เพราะเวลานี้หากหวังพึ่งแต่การส่งออกที่เคยเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวคงไม่รอด!! เพราะที่ผ่านมา 7 เดือนตัวเลขการส่งออกยังติดลบ 0.42% และเชื่อได้เลยว่า… ตลอดทั้งปี 57 นี้ ตัวเลขการส่งออกคงไม่พุ่งทะยานเกินกว่าที่คาดเดากันไว้ว่าไม่ถึง 2% ทำให้ล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องสั่งการในที่ประชุมคสช.นัดส่งท้าย ก่อนมีคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ให้ทุกหน่วยงาน ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในปี 57 และตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่จะถึงนี้ ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณ 58 ก็เริ่มให้เบิกจ่ายงบประมาณก้อนใหม่โดยเฉพาะงบประมาณด้านลงทุนทันที เพื่อให้มีเงินกระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจย้ำโปร่งใส-ตรวจสอบได้ ที่สำคัญ…พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำนักย้ำหนาว่า การจัดทำโครงการต่าง ๆ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาดจนทำให้ชาวบ้านหมดความเชื่อถือ ตั้งเป้าหมายเบิกจ่าย 96% ทั้งนี้ตามข้อมูลของสำนักงบประมาณ ได้ตั้งเป้าหมายได้สั่งให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจทุกแห่งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 58 โดยตั้งเป้าหมายเบิกจ่ายภาพรวม 2.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 96% ของวงเงินงบประมาณ 2.57 ล้านล้านบาท และเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 393,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ของวงเงิน 450,000 ล้านบาท หากทำได้ก็จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจปี 57 ขยายตัวได้ 1.5-2% และเศรษฐกิจปี 58 ขยายตัวได้ 3.5-4.5% ต่อปีแต่ความคาดหวังจะทำได้มากน้อยอย่างไร ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะเวลานี้ปัญหาหลัก… คือ การเบิกจ่ายยังต่ำกว่าเป้าหมายมาก เพราะจนถึงวันที่ 31 ส.ค. 57 รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายไปเพียง 1.240 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 86.03% เมื่อเป็นเช่นนี้… คงเป็นเรื่องยากที่จะเห็นการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 57 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 95% ขณะที่งบลงทุนก็สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 234,042.86 ล้านบาท หรือประมาณ  58.26% ทั้งที่เป้าหมายของการเบิกจ่ายงบลงทุนตั้งไว้ที่ 82% ต้องยอมรับว่า…สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ก็เพราะปัญหาการเมืองที่เกิดความวุ่นวายขึ้นในช่วงปลายปีก่อนต่อเนื่องจนถึงต้นปีที่ผ่านมา ที่มีรัฐบาลรักษาการ จนทำให้ส่วนราชการไม่กล้าทำการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงมีการชุมนุมจนปิดหน่วยงานราชการหลายแห่งนานหลายเดือน ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงนั้นต้องหยุดชะงัก แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 57 คสช.จะเข้ามาบริหารประเทศแทนแล้ว แต่ไม่สามารถกระตุ้นให้เบิกจ่ายเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้! ทำให้การบริหารระบบงบประมาณจากนี้ไป โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 58 จึงต้องกำหนดแนวทางให้ดีกว่าเดิม คือ… ต้องมีทั้งความรัดกุม เตรียมความพร้อม และจัดลำดับความสำคัญในแผนงานที่รู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาการใช้งบประมาณของทุกหน่วยงานมักใช้กันแบบไม่สมเหตุสมผล เพื่อเสนอขอทำโครงการ แต่สุดท้ายกลับไม่สำเร็จ ต้องขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปใช้ในโครงการอื่น หรือไม่ก็เร่งใช้แบบให้หมดไปด้วยการจัดโครงการสัมมนาพาเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าทำไม่ได้ถูกตัดงบปีหน้า ในฐานะที่เข้ามากำกับดูแลและบริหารประเทศ และได้ตั้งความหวังให้การเบิกจ่ายงบประมาณจากนี้ไปจะเป็นเครื่องยนต์กลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น “พล.อ.ประยุทธ์” จึงต้อง “คาดโทษ” แม้เป็นมาตรการเดิมแต่ก็ถือว่าได้ผล โดยเฉพาะการ “ตัดงบประมาณ” ในปีหน้า หากส่วนราชการและหน่วยงานไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ทันไม่เพียงเท่านี้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยังต้องการให้บรรดาส่วนราชการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะในเรื่องของการซ่อมแซมอาคารสถานที่ เพราะเห็นว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ง่ายสะดวกและรวดเร็ว และยังไม่ใช่วงเงินงบประมาณจำนวนมาก แต่ก็สามารถผลักดันออกมาได้เร็วและยังทำให้เงินเข้าสู่ระบบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังกำชับนักหนาเรื่องการใช้งบประมาณในการจัดประชุมสัมมนาที่ต้องการให้ทุกส่วนราชการจัดการประชุมสัมมนาภายในประเทศแทนการเดินทางไปต่างประเทศ และต้องการให้ประชาชนในท้องที่เข้ามามีส่วนร่วมกับงาน หรือสามารถนำสินค้ามาจัดแสดงและจำหน่าย สร้างรายได้ให้เกิดกับพื้นที่นอกจากนี้วิธีการที่จะทำให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณออกมาได้อย่างรวดเร็วอีกวิธีหนึ่ง คือการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ หากมีแผนล่วงหน้าหรือรู้อยู่แล้วว่าต้องจัดซื้อ ก็ให้จัดซื้อโดยทันทีไม่ต้องรอเวลา แต่ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความจำเป็นและประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการเปิดช่องให้ทุจริตแล้วมานั่งไล่เช็กบิลกันทีหลังส่งหนังสือสั่งเตรียมพร้อม อย่างไรก็ตามเพื่อให้งานเดินไปตามแผนทั้งหมด ล่าสุดกรมบัญชีกลางก็ได้ทำหนังสือเวียนไปถึงหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ให้เร่งจัดเตรียมขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างไว้รอล่วงหน้า เริ่มตั้งแต่การทำรายละเอียดของโครงการ จัดประมูลหาผู้รับเหมาโครงการให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อให้พร้อมลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 58 เพราะเมื่อถึงตอนนั้นจะสามารถเบิกเงินมาได้ทันทีขีดเส้นตาย 30 ธ.ค. ขณะเดียวกันยังกำชับให้ทุกหน่วยงาน ต้องรายงานผลการจัดซื้อจัดจ้างให้กรมบัญชีกลางรับทราบภายในวันที่ 30 ธ.ค. 57 จากนั้นจึงรวบรมข้อมูลชงให้ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้า และต้องทำรายงานผลการเบิกจ่ายเป็นแบบรายไตรมาสด้วย เผื่อว่าหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะได้รู้ต้นตอ และสามารถแก้ไขให้ถูกทาง รวมทั้งยังเร่งให้ทุกหน่วยงานเบิกจ่ายงบการฝึกอบรม และประชุมสัมมนาให้ได้ไม่น้อยกว่า 50% ของงบที่ได้รับจัดสรรภายในไตรมาสแรก อีกทั้งยังให้หน่วยราชการ ร่วมกับรัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัด คอยจับตาหน่วยงานในสังกัดให้เร่งเบิกจ่ายอย่างเคร่งครัด แม้ว่า “การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ” จะกลายเป็นเครื่องยนต์หลักในการบู๊ทเศรษฐกิจของประเทศ ทดแทนเครื่องยนต์ตัวอื่นที่กำลังอ่อนแอ แต่ความหวังในครั้งนี้กำลังกลายเป็นความท้าทายหลักของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะสามารถก้าวข้ามผ่านความท้าทายนี้ได้มากน้อยเพียงใด.วสวัตติ์ โอดทวี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘บิ๊กตู่’ จี้ติดเร่งเบิกจ่ายงบฯ เครื่องยนต์หลักกระตุ้นศก.

Posts related