มีเรื่องราวก่อเกิดขึ้นมากมายที่ “ซิลิคอน วัลล์เล่ย์ ” สถานที่ที่คนไอที รู้จักกันดี เพราะถือป็นศูนย์กลางทางนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดและที่ตั้งของบริษัทด้านไอทีชื่อดังมากมาย เป็นสถานที่ที่คนไอทีใฝ่ฝันจะได้เข้าไปทำงาน หรือเยือนสักครั้งในชีวิต ซึ่งโครงการดีแทค แอคเซลเลอเรท 2014 ที่ค้นหาผู้ประกอบการไอทีหน้าใหม่ หรือ “สตาร์ต อัพ” ก็ได้ทีมที่ได้เป็นตัวแทนคว้าสิทธิได้ไปร่วมโครงการแบล็ก บ๊อกซ์ (Black Box) ที่ซิลิคอน วัลล์เล่ย์แล้ว หลังจากสตาร์ตอัพที่ชนะเลิศ 5 ทีมสุดท้าย คือ ทีม เอนนี่แวร์ ทู โก  (Anywhereto Go), ทีมพิกกิโปะ (Piggipo), ทีมฟาสท์ทิน โฟล( Fastin Flow) , ทีมไดรฟ์บอท ( Drivebot ) และทีมสตอรี่ล็อก (StoryLog) ได้นำเสนอผลงานในวันเดโม เดย์ 2014 หลังจากเสร็จสิ้นการร่วมเวิร์กช็อปบูธแคมป์ เป็นเวลา 3 เดือน โดยมีนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลกมาเป็นคณะกรรมการตัดสิน  อาทิ เจฟฟรีย์ เพนน์  จากโกลเด้นท์ เกตเวนเจอร์, กวงฮัว ซู จาก กรี เวนเจอร์, อเล็กซ์ จาวิซ จาก จังเกิล เวนเจอร์, เอเดรียน แวนเซล ซีอีโอ อาร์เด้นท์ แคปปิตอล, ฮิโร มาชิตะ จาก  M&S Partners และ โคชิ ไซโตะ จาก IMJฯลฯ ซึ่งทีมที่ได้เป็นตัวแทนไปร่วมโครงการแบล็ก บ๊อกซ์ ที่ซิลิคอน วัลล์เล่ย์  คือ พิกกิโปะ(Piggipo)  ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นจัดการบัตรเครดิตทุกใบในแอพเดียว  ขณะที่ทีมเคลมดิ(Claim Di) ที่เป็นแอพพลิเคชั่นในการเคลมประกันรถยนต์ ได้รับรางวัลดิจิตอล วินเนอร์ เป็นตัวแทนสตาร์ตอัพจากทีมดีแทคประเทศไทยไปแข่งขันกับตัวแทนจากเทเลนอร์ทั่วโลกทั้ง 13 ประเทศ ณ ประเทศนอร์เวย์ ผลงานของ “พิกกิโปะ” ได้ออกสู่ตลาดจริงแล้วถือเป็นแอพพลิเคชั่นด้านการเงินที่ได้รับความนิยมขึ้นเป็นอันดับ 1 ในแอพสโตร์ และยังได้รับเงินสนับสนุนจากอุ๊กบี  (Ookbee ) ด้วย ขณะที่แอพพลิเคชั่น เคลม ดิ ก็พร้อมจะทำตลาดถึงกลุ่มลูกค้าแล้ว โดยได้รับเงินลงทุนจาก  500  Startups เพื่อขยายตลาดไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียด้วย นายแอนดริว กวาลเซท ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรมธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า การเลือกทีม พิกกิโปะ ไปซิลิคอน วัลล์เล่ย์  เนื่องจากมีการนำเสนอผลงานที่ดี มีกลยุทธ์และมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และมีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ ซึ่งแผนงาน ของดีแทค แอคเซลเลอเรท ต่อจากนี้จะมีรูปแบบธุรกิจและเข้าไปเป็นพันธมิตรเพื่อวางกลยุทธ์และให้เงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง พร้อมช่วยทำตลาดเชิงพาณิชย์ โปรโมตให้แอพพลิเคชั่นของทั้ง 5 ทีม เพื่อให้มีการดาวน์โหลดมีและรายได้เข้ามา คาดว่าจะมี  2-3 ทีมที่พร้อมทำตลาดในปลายปีนี้  โดยจะช่วยขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และลูกค้าของเทเลนอร์ที่มีอยู่ใน 13 ประเทศทั่วโลก ด้าน น.ส.สุพิชญา  สูรพันธุ์  อายุ 24 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งและพัฒนาแอพพลิเคชั่น พิกกิโปะ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่อยากพัฒนาแอพพลิเคชั่นช่วยจัดการเรื่องการใช้งานบัตรเครดิต เนื่องจากมีญาติที่เคยประสบปัญหามีบัตรเครดิตหลายใบแล้วไม่รู้ว่าใช้รูดไปแล้วเป็นเงินเท่าไร เกิดปัญญาใช้จ่ายบัตรเครดิตเกินตัว  สลิปล้นกระเป๋าเพราะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน หรือ ลืมวันชำระเงิน จนทำให้เกิดมีดอกเบี้ยตามมา จึงคิดที่จะหาเครื่องมือในการช่วยเหลือในเรื่องนี้ จนมาเป็น พิกกิโปะ ที่เป็นแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนรองรับทั้งไอโอเอส และแอนดรอยด์ โดยมีทีมงานร่วมกันพัฒนาทั้งหมด 7 คน สำหรับจุดเด่นของ พิกกิโปะ คือ สามารถเห็นภาพรวมค่าใช้จ่ายของบัตรเครดิตทุกใบในหน้าแรกของแอพพลิเคชั่น โดยยอดค่าใช้จ่ายจะแยกตามรอบบิลของแต่ละบัตร ทำให้ผู้ใช้รู้ยอดใช้จ่ายแบบเรียลไทม์  และสามารถตั้งยอดค่าใช้จ่ายต่อบัตรได้ โดยเมื่อใช้จ่ายใกล้ถึงยอดจะมีอีโมชั่น พิกกิโปะ รูปหมู ที่จะเปลี่ยนอีโมชั่นไปตามการใช้จ่ายคอยเตือนให้รู้ นอกจากนี้ยังมีระบบผ่อนชำระ เปรียบเสมือนเลขาส่วนตัว ช่วยคำนวณดอกเบี้ยและวางแผนการใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และยังมีกราฟช่วยวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่ได้ใช้ไป พร้อมทั้งบันทึกทุกค่าใช้จ่าย ป้องกันปัญหาหลงลืมว่าใช้อะไรไปบ้าง และแสดงวันตัดรอบแต่ละใบ ช่วยให้เราเลือกใช้บัตรที่ให้ช่วงระยะเวลาจ่ายนานสุดได้อย่างรวดเร็ว และมีระบบเตือนไม่ให้ลืมวันชำระเงินด้วย ส่วนเรื่องความปลอดภัยก็ได้มาตรฐานเพราะไม่ต้องใส่ข้อมูลบัครเครดิตใด ๆ และแอพก็มีการเข้าระบบ 128 bit  เป็นมาตรฐานความปลอดภัยเดียวกับธนาคารทั่วโลก ทั้งนี้หลังจากเปิดให้คนได้ดาวน์โหลดแล้วปรากฏว่ามียอดดาวน์โหลดแล้วมากกว่า 6 หมื่นครั้ง และมีผู้เปิดใช้ประจำมากกว่า 50% ก็มีการเข้าไปพูดคุยกับธนาคารต่าง ๆ ซึ่งก็มีหลายแห่งสนใจ และกำลังอยู่ระหว่างคุยกับนักลงทุนรายใหญ่ระดับโลกอยู่ด้วยคาดว่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ “หลังจากจบปริญญาโท ด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีความคิดว่าไม่อยากทำงานประจำต้องการเข้าสู่วงการสตาร์ตอัพ คิดพัฒนาผลงานและรูปแบบธุรกิจที่ต้องการทำให้สำเร็จ แล้วนำไปประกวดในเวทีต่าง ๆ จนช่วงแรกๆ พ่อแม่ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่หางานทำ แต่ตอนหลังเห็นว่าเราสามารถทำได้ก็เข้าใจ จึงอยากฝากให้คนที่สนใจด้านนี้มีความตั้งใจและพยายามเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้”  น.ส.สุพิชญา กล่าว อย่างไรก็ตามสำหรับผลงานของอีก 3 ทีมชนะเลิศ ประกอบด้วย ทีมฟาสท์ทิน โฟล ซึ่งเป็นบริการทำวิจัยผู้บริโภคสำหรับนักการตลาดผ่านเว็บและแอพพลิเคชั่น ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานแล้ว และมีกว่า 100 บริษัทที่เข้ามาเป็นลูกค้าขณะที่ผู้เข้ามาตอบแบบสอบถามก็จะได้แต้มเพื่อนำไปแลกของรางวัลต่าง ๆ ส่วน ทีมไดรฟ์ บอท เป็นโมบายแอพที่ช่วยให้ผู้ใช้ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถ จะคอยเตือนเมื่อรถมีปัญหา หรือถึงเวลาต้องตรวจสภาพรถ จะเปิดตัวในเชิงพาณิชย์เร็ว ๆ นี้ และสุดท้าย คือทีม สตอรี่ล็อก เป็นสังคมออนไลน์ สำหรับใช้แบ่งปันเรื่องราวสุข เศร้า ตลกของทุกคน แชร์ได้ทุกเรื่อง และเรื่องราวเรานี้จะถูกเก็บไว้ไม่ให้ตาย ปัจจุบันมีคนเข้ามาดูแล้วมากกว่า 1 ล้านวิว  และมีแฟนเพจติดตามจำนวนมาก ทั้งนี้ดีแทคได้เตรียมงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมทั้ง 5 ทีม รวมถึงสนับสนุนการทำตลาด เพื่อให้ผลงานทั้งหมดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ว ๆ นี้. จิราวัฒน์ จารุพันธ์ JirawatJ@dailynews.co.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘พิกกิโปะ’ คว้าตั๋วไปซิลิคอน วัลล์เล่ย์ – ฉลาดสุดๆ

Posts related