“ออมสินโมเดล” หรือการแห่ถอนเงินออกจากธนาคารออมสินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากว่า 1 แสนล้านบาท  เพื่อแสดงความไม่พอใจบรรดาผู้บริหารและคณะกรรมการของธนาคาร ที่ไฟเขียวให้ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้ในลักษณะอินเตอร์แบงก์ระหว่างธนาคาร ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปใช้เสริมสภาพคล่องนั้น ได้กลายเป็นวิกฤติของธนาคารออมสินแบบชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงกว่า 100 ปีตั้งแต่มีการก่อตั้งธนาคารแห่งนี้ขึ้น ต้นตอของการแห่ถอนเงินที่ว่า จนบางสาขาของธนาคารออมสินต้องประสบปัญหาเงินสดเกลี้ยงธนาคารแบบไม่ทันตั้งตัว และผู้บริหารต้องไปขอยืมเงินฉุกเฉินต่างสาขากันแบบพัลวันนั้น  คงหนีไม่พ้นเรื่องของการ “เด้งรับ” นโยบายการเมืองมากเกินไป แม้ธนาคารออมสินจะบอกว่าเป็นการทำธุรกรรมตามปกติของธนาคารอยู่แล้วและไม่รู้ว่าธ.ก.ส.จะนำเงินไปใช้รับจำนำข้าว ไม่เช่นนั้นคงไม่ให้กู้ตั้งแต่แรก แต่ทว่า…ในความเป็นจริงแล้ว แม้แต่เด็กอมมือก็รู้ว่าธ.ก.ส.จะนำเงินไปใช้ทำอะไร?  การเด้งรับนโยบายการเมืองในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของฝ่ายการเมืองที่ครอบงำสถาบันการเงินของรัฐอย่างแท้จริง…โดยไม่สนใจกับความถูกผิดของกฎหมายหรือการมีธรรมาภิบาลของผู้บริหาร จนกลายเป็นปัญหาของการเสื่อมถอยขององค์กรหากสถานการณ์ปกติ และกระทรวงการคลังเปิดให้ธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมประมูลสินเชื่อที่ปล่อยให้กับ ธ.ก.ส. ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน รับรองว่าธนาคารพาณิชย์คงแย่งประมูลกันอย่างคึกคักไปแล้ว เพื่อต้องการชดเชยสินเชื่อแก่ภาคเอกชนที่ชะลอตัวจากสภาพเศรษฐกิจทั่วไป เมื่อโครงการขาดความโปร่งใส และรัฐบาลยังอยู่ในช่วงรักษาการ จึงทำให้บรรดานายแบงก์ต่างต้อง “คิดหนัก” แม้ว่าทุกฝ่ายต่างเห็นใจและเข้าใจสถานการณ์ของชาวนาก็ตาม  เห็นได้จากกรณีที่กระทรวงการคลังเชิญชวนธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐและเอกชน 34 แห่ง ร่วมประมูลเงินกู้ เพื่อนำไปจ่ายจำนำข้าวก้อนแรก 20,000 ล้านบาท จากทั้งหมด 130,000 ล้านบาท เพื่อคัดเลือกวงเงินและดอกเบี้ยจากธนาคารที่เสนอเข้ามา สุดท้าย…กลับหน้าแตก เพราะไม่สามารถหาผู้เข้าประมูลเงินกู้ได้ แบงก์อื่นห่วงความเสี่ยง ปัจจัยที่ทำให้สถาบันการเงินต่าง “แหยง” ไม่กล้าเล่นด้วยคงกังวลถึงเรื่องภาพลักษณ์องค์กรและธรรมาภิบาลของธนาคาร เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นที่รู้กันว่าขาดทุนเป็นจำนวนมาก และมีการทุจริตซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงไม่มีสถาบันการเงินแห่งไหนเสี่ยงปล่อยกู้ ที่สำคัญการประมูลครั้งที่ผ่านมาเป็นเพราะไม่มีความชัดเจนด้านกฎหมาย และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ที่รัฐบาลรักษาการไม่สามารถก่อภาระผูกพันข้ามรัฐบาลได้ เพราะหากเปลี่ยนรัฐบาลหรือเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเมื่อไหร่ แล้วรัฐบาลชุดใหม่ไม่ยอมจ่ายเงินคืนให้ธนาคาร  สุดท้ายเจ็บตัวแน่และคงต้องไปไล่ฟ้องตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องแทนที่จะฟ้องร้องต่อรัฐบาล หนีไม่พ้นการเมืองล้วงลูก    ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมานอกจากธนาคารออมสินแล้วยังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติหรือเกือบจะเจ๊งครั้งแล้วครั้งเล่า เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงเข้าไปสนองนโยบายการเมืองมากเกินไป หรือไม่ก็ถูกการเมืองเข้าไปล้วงลูกผ่านการตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) เข้ามากดดัน จนผู้บริหารแบงก์หลายคนอนาคตต้องดับวูบมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการแต่งตั้งบอร์ดของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่เห็นได้ว่ามีบอร์ดจำนวนมากมาจากผลตอบแทนจากฝ่ายการเมืองทั้งที่ไม่มีความรู้ความสามารถ ขอเพียงสนองนโยบายรัฐ นักการเมืองและพรรคการเมือง ได้ก็อยู่ในตำแหน่งนี้อีกยาวนาน ส่วนธนาคารเฉพาะกิจที่มีความเสี่ยงสำหรับผู้บริหารที่ต้องสนองนโยบายการเมืองเช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือเอสเอ็มอีแบงก์  ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มุ่งช่วยเหลือและให้สินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นหลัก ในช่วง 10 ปีเศษ ที่ผ่านมา…มีปัญหาเรื่องการดำเนินคดีกับเอ็มดีเป็นว่าเล่น ส่วนหนึ่งมีผลที่เชื่อมโยงจากการสนองนโยบายนักการเมือง หรือมีปัญหาความขัดแย้งกับนักการเมือง เห็นได้จากในช่วงตั้งแต่ปี 45-57 มีการเปลี่ยนแปลงตัวเอ็มดีไปแล้ว 5-6 ราย ซึ่งรายล่าสุดเพิ่งถูกบอร์ดมีมติให้ออกทั้งที่เจ้าตัวยังงงอยู่ อย่างไรก็ตามแต่ละคนต้องเผชิญกับวิบากกรรมกันไปต่าง ๆ นานา กับการตั้งประเด็นข้อกล่าวหาส่วนใหญ่มักวนเวียนอยู่กับเรื่องทุจริตในการปล่อยสินเชื่อทำให้เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล และทำให้ธนาคารเสียหายรวมกันแล้วนับหมื่นล้านบาท โชคดีมีสหภาพเข้มแข็ง เช่นเดียวกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) ถือว่าในช่วงหลังเป็นสถาบันการเงินที่โดดเด่นมากกับการที่ต้องจำใจในการสนองนโยบายการเมืองทุกยุคทุกสมัย  หากเป็นนโยบายที่โปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของสังคมผู้บริหารโล่งอกโล่งใจไป  แต่หากเป็นโครงการไม่เข้าท่าผู้บริหารคงต้องกินไม่ได้ นอนไม่หลับเพราะบางช่วงเงินสภาพคล่องเกือบหมดแบงก์เช่นกัน ยิ่งต้องมารับบทบาทในการดูแลโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งแม้ว่าเป็นโครงการที่ดีสามารถช่วยให้ชาวนาที่มีไร่นาเยอะ ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ปัญหาอยู่ที่เงินอย่างเดียว เพราะเป็นการรับซื้อข้าวที่สูงกว่าตลาดโลกเฉลี่ยที่ 30-40% เมื่อรัฐบาลขายไม่ได้สุดท้ายปริมาณข้าวก็เต็มโกดัง มีปัญหาข้าวหาย  ไฟไหม้โกดัง และการทุจริตต่าง ๆ หลายขั้นตอน จนกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถนำเงินมาคืนรัฐบาลมาจ่ายให้ชาวนาได้ทัน แต่ยังดีที่ผู้บริหารและสหภาพแรงงานของ ธ.ก.ส. ยังมีความเข้มแข็งมีความพร้อมต่อสู้ในการเรียกร้องต่อภาครัฐ กรณีที่มีการใช้งบประมาณในโครงการประชานิยมที่เกินขอบเขต   สุดท้ายจึงไม่ค่อยเห็นผู้บริหารถูกดำเนินคดีมากนักเหมือนกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ แบงก์รัฐหนี้เน่าเบ่งบาน หันมาที่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ แม้ไม่มีภาพการสนองนโยบายประชานิยมที่ชัดเจนเหมือนกับธนาคารอื่นมากนัก แต่เป็นอีกหนึ่งสถาบันการเงินของรัฐ ที่ถูกฝ่ายการเมืองเข้ามาวุ่นวายไม่น้อยเช่นกันหรือมีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง สุดท้ายเกิดปัญหาหนี้เอ็นพีแอล 39,000 ล้านบาทสูงสุดในประวัติการณ์ของไอแบงก์ และบางปีขาดทุนจำนวนมากมโหฬาร เพราะปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีคุณภาพ  ไม่รอบคอบ  ประเมินหลักประกันเกินจริง  รวมทั้งไม่ติดตามหนี้ที่ดีพอ จนก่อให้เกิดหนี้เสีย และผู้บริหารในบางตำแหน่งยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ สุดท้ายผู้บริหารและพนักงานหลายรายถูกดำเนินคดีหรือถูกไล่ออก “ธนาคารกรุงไทย” เป็นอีกหนึ่งธนาคารที่ไม่สามารถปฏิเสธในข้อเท็จจริงได้เช่นกันว่า ถูกอำนาจการเมืองเข้าแทรก แซงแม้จะจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ตามแต่ก็มีข่าวฉาวในอดีตกับการเข้ามาเกี่ยวข้องของนักการเมือง จนเกิดความเสียหายแก่ธนาคารอย่างมาก สุดท้ายนักการเมือง และอดีตผู้บริหารและพนักงานถูกดำเนินคดีแบบกราวรูด ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502  โดยเฉพาะการให้สินเชื่อกับเอกชน ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร ซึ่งกรณีนี้นักการเมืองที่เกี่ยวข้องรอดหลายคนโดยอ้างว่าเป็นการพิจารณา ผู้บริหารธนาคารเอง ขณะที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศ ไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ก็มีปัญหาเรื่องของการปล่อยเงินกู้แก่รัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 4,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณชดเชยผลขาดทุนให้แก่ เอ็กซิมแบงก์ สุดท้ายเรื่องดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ฟ้องอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแบงก์รัฐทั้งในอดีตและปัจจุบัน จนเกิดวิกฤติความเสื่อมศรัทธาของลูกค้าในบางช่วงบางเวลา สาเหตุใหญ่ มาจากนักการเมือง ที่เข้าไปใช้เป็นเครื่องมือ ในการสนองนโยบายประชานิยม เนื่องจากไทยไม่มีงบประมาณเพียงพอในการดำเนินการได้ สุดท้ายผู้ที่เสียหายคือ ประชาชนเพราะหากแบงก์รัฐเสียหายหรือขาดทุนก็ต้องใช้เงินภาษีไปอุ้มและเพิ่มทุนเพื่อให้ธนาคารอยู่รอด แม้ว่า…ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐจะถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกเป็นแขนเป็นขาให้กับรัฐบาลในการเดินหน้านโยบาย โดยมีเป้าหมายไปที่เดียวกันคือช่วยเหลือคนไทยทั้งประเทศ แต่การทำหน้าที่ของธนาคารเฉพาะกิจแต่ละแห่งก็ควรเป็นไปด้วยความถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า …คือการมีธรรมาภิบาลของผู้บริหาร เพราะเชื่อว่าเมื่อผู้บริหารมีธรรมาภิบาลทุกอย่างจะเดินหน้าไปอย่างถูกต้อง. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘ออมสินโมเดล’บทเรียนแบงก์รัฐถึงเวลาสร้างธรรมาภิบาลผู้บริหาร

Posts related