เรียกว่ายังเป็นที่นิยมสำหรับ “เอ อาร์ โดรน” (AR. Drone) อากาศยานขนาดเล็ก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะเมื่อถูกนำมาใช้ในภารกิจถ่ายภาพการชุมนุมของมวลมหาประชาชน คราวนี้…ไม่ได้ถูกใช้ในการถ่ายภาพคน แต่เป็นการประยุกต์ใช้เพื่อชาวนาโดยเฉพาะ “นางสาวฐิตาภรณ์ กนกรัตน” นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บอกว่า เนื่องจากชาวนามักประสบปัญหาโรคนาข้าว ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ ขณะเดียวกันหากใช้คนเข้าไปในพื้นที่จะทำให้โรคแพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นจึงพัฒนา “ระบบตรวจจับโรคนาข้าวด้วยเทคนิคการประมวลผลภาพ” ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการติดตามและเฝ้าระวังโรคในนาข้าว โดยมี ดร.มหศักดิ์ เกตุฉ่ำ และอาจารย์ปฏิยุทธ พรามแก้ว เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ น้องฐิตาภรณ์ บอกว่า โครงการนี้เป็นการประยุกต์ใช้การถ่ายภาพทางอากาศด้วยเครื่องบินเออาร์ โดรน และพัฒนาระบบตรวจจับค่าผลต่างสีของใบข้าวในนาข้าวโดยใช้การประมวลผลภาพ เพื่อประเมินผลความเสียหายนาข้าวที่เกิดจากศัตรูข้าว จากการทดลองซึ่งใช้เครื่องเล่นเออาร์ โดรน ต้นแบบควบคุมผ่านระบบไวไฟ บินสำรวจความผิดปกติของสีใบข้าวในนาข้าว ถ่ายภาพและนำมาประมวลผลด้วยโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น ผลจากการทดลอง พบว่า โปรแกรมสามารถตรวจจับโรคนาข้าวจากพื้นที่ทำการทดลองที่เกิดปัญหาได้ตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ค่าเฉลี่ย 0.73 % น้องฐิตาภรณ์ บอกอีกว่า ระบบนี้ใช้ต้นทุนในการพัฒนาประมาณ 4 พันบาท แต่สามารถช่วยตรวจจับโรคศัตรูข้าว ทั้งโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคหนอนห่อใบข้าวได้จากค่าสีที่ตรวจพบ โปรแกรมสามารถประเมินความเสียหายของนาข้าวที่เกิดจากศัตรูข้าว ช่วยลด อัตราความเสียหายที่เกิดจากการเดินสำรวจ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการดูแลนาข้าว เหมาะสำหรับเกษตรกรผู้ผลิตข้าวรายย่อย ตลอดจนนักวิจัยข้าว และนักเทคโนโลยี สำหรับปัญหาที่พบ ผู้พัฒนาบอกว่า แสงสะท้อนจากใบข้าวทำให้ติดสีขาวในบางส่วนของภาพ ส่งผลต่อการประมวลผลภาพ ทำให้เกิดความผิดพลาดต่อการตรวจจับปัญหาโรคหนอนห่อใบข้าว นอกจากนี้โปรแกรมยังคำนวณและตรวจจับบริเวณทั้งหมดของภาพ อาทิ พื้นดิน ร่องน้ำ และช่องว่างระหว่างต้นข้าวบางส่วน แทนที่จะตรวจจับเฉพาะบริเวณใบข้าวเพียงอย่างเดียว ส่วนการเชื่อมต่อไวไฟ ระหว่างเออาร์ โดรนกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ยังมีปัญหาการเชื่อมต่อในบางครั้ง ทำให้เสียเวลาในการเชื่อมต่อใหม่และเปลืองพลังงานแบตเตอรี่ของเออาร์ โดรน ทำให้มีเวลาใช้งานได้น้อยลง น้องฐิตาภรณ์ บอกต่อว่า แนวทางในการพัฒนาเพิ่มเติมจะมีการเพิ่มฟีเจอร์ ดีเทคชั่น ลงในโปรแกรมเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจจับ และเพิ่มขนาดและความจุของแบตเตอรี่ เพื่อให้บินถ่ายภาพได้ยาวนานขึ้น สำหรับการประยุกต์ใช้ในด้านอื่น ๆ นั้น สามารถนำไปใช้ด้านการรักษาความปลอดภัย และด้านการตรวจจับการเคลื่อนที่ของวัตถุ ใช้ในการสอดแนมในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมอันตราย รวมถึงใช้รักษาความปลอดภัย เช่น ตรวจจับใบหน้าผู้ต้องสงสัยได้อีกด้วย. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘เออาร์ โดรน’ ช่วยตรวจจับโรคในนาข้าว

Posts related