ประเทศไทยได้ส่งเด็กนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศในทุกปี และสามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับมาทุกครั้ง สร้างชื่อเสียงให้ประเทศทุกปีศูนย์หนังสือจุฬาฯ จึงร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) นำหนังสือวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มาพัฒนาเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์  (eBook) เพื่อเป็นคลังความรู้ แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีมาตรฐานสากล ใช้เสริมความรู้และพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างทัดเทียมรองศาสตราจารย์ ดร.กำจัด มงคลกุล เลขาธิการมูลนิธิ สอวน. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยส่งนักเรียนแข่งขันโอลิมปิกวิชาการสาขาต่าง ๆ จำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าเด็กไทยไม่เป็นรองใคร ซึ่งในการแข่งขันหลักสูตรจะมีการพัฒนาและมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ การพัฒนาตำราวิชาการของ สอวน. จะเป็นตำราสำหรับเด็กชั้นมัธยมทุก ๆ คน หลักสูตรมีความทันสมัย เด็กที่เรียนวิชาเหล่านี้ก็สามารถอ่านได้ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับเด็กเก่งเท่านั้น ส่วนครูอาจารย์ก็สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียนได้ด้วย“การนำตำราวิชาการของ สอวน. มาพัฒนาเป็นอีบุ๊ก มีทั้งหมดจำนวน 21 เล่ม ครอบคลุมในวิชาที่มีการจัดแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ คือ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คอมพิวเตอร์ ดาราศาสตร์ และอนาคตจะเพิ่มในวิชาภูมิศาสตร์ด้วย”ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล นาคมหาชลาสินธุ์ ผู้ได้รับเหรียญรางวัลการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ คนแรกของประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตำราวิชาการชุดนี้ไม่ได้เขียนมาเพื่อเด็กที่แข่งโอลิมปิกวิชาการเท่านั้น เด็กที่เรียนในห้องเรียนปกติก็สามารถนำไปใช้เรียนเสริม หรือเตรียมความรู้เพื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาได้ ด้าน นายเกรียงศักดิ์ หรรษาเวก รองผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากแนวคิดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีปณิ ธานในการเป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” จึงมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้องค์ความรู้ที่มีอยู่เหล่านี้จะถูกเผยแพร่ให้มากที่สุด ทางศูนย์หนังสือจุฬาฯ จึงเริ่มทำร้านหนังสือออนไลน์ สามารถสั่งทางออนไลน์แล้วส่งหนังสือทางไปรษณีย์ เมื่อประมาณ 10 ปี ที่แล้ว และ 2 ปีที่แล้วก็เริ่มโครงการ CU- eBook Store ซึ่งได้รวบรวมหนังสือและตำราวิชาการต่าง ๆ จากคณาจารย์และหลายสำนักพิมพ์เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ที่สอดคล้องกับยุคดิจิตอล“หนังสือของ สอวน.ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของ กทม. นักเรียนในต่างจังหวัดยังเข้าไม่ถึง จึงนำโครงการที่จะจัดทำในรูปแบบอีบุ๊ก ไปเสนอ มูลนิธิ สอวน. ซึ่งก็มีความเห็นที่ตรงกัน เพราะจะทำให้นักเรียนทั่วประเทศสามารถเปิดอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ซึ่งเนื้อหาสาระที่ครบถ้วน สมบูรณ์ ของอีบุ๊ก สามารถตอบสนองต่อโครงการสมาร์ท คลาสรูม ของรัฐบาลใหม่ได้เป็นอย่างดี”การจัดทำอีบุ๊กจะใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์เท่านั้น ก็สามารถนำขึ้นขายได้ เนื่องจากไฟล์หนังสือส่วนใหญ่จะจัดทำเป็นไฟล์ดิจิตอลเพื่อนำไปเตรียมพิมพ์อยู่แล้ว เพียงแค่เอามาใส่รหัสเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น สำหรับการใช้งานผู้ที่ต้องการซื้ออีบุ๊กจะต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น CU-eBook Store จากแอพสโตร์ สำหรับระบบปฏิบัติการไอโอเอส และจาก เพลย์สโตร์ สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เมื่อเปิดใช้งานจะมีชั้นหนังสือให้เลือก นอกจากหนังสือของมูลนิธิ สอวน. แล้วยังมีหนังสืออื่นอีก 4,000 ปก โดย 60% เป็นหนังสือวิชาการ และอีก 40% เป็นหนังสือทั่วไป“เมื่อกดเลือกซื้อหนังสือจากชั้นแล้ว การชำระเงินจะผ่านระบบของแอพสโตร์ด้วยการใช้บัตรเครดิต เมื่อเปิดอ่านไม่จบสามารถทำบุ๊กมาร์คเพื่อเวลาเปิดอ่านอีกครั้งให้กลับมาที่หน้าเดิม และเมื่ออ่านจบแล้วสามารถนำไปเก็บไว้บนคลาวด์เพื่อไม่ให้เปลืองเนื้อที่ของเครื่องและหากต้องการอ่านใหม่ก็สามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา”ในอนาคตทางศูนย์หนังสือจุฬาฯ จะพัฒนาอีบุ๊กให้มีภาพและเสียงแบบมัลติ มีเดีย เพื่อให้เป็นตำราวิชาการที่อ่านแล้วไม่เบื่อ และมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น.จิราวัฒน์ จารุพันธ์JirawatJ@dailynews.co.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ‘eBook’ สอวน. ครั้งแรกของไทย – ฉลาดสุดๆ

Posts related