เมื่อบรรดาผู้ประกอบการเอกชน แสดงตนต่อแถวยื่นขอรับการประมูลทีวีดิจิทัล หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดรับเอกสาร เมื่อวันที่ 28-29 ตุลาคมที่ผ่านมา …ปิดยอดตัวเลขผู้เข้าร่วมประมูลจำนวน 29 บริษัท 41  ซอง … งานนี้ต้องจับตาการแข่งขัน…ที่เปลี่ยนไปจากเดิมในช่วงซื้อเอกสารประมูล ที่มีผู้ซื้อซองเอกสารประมูลไปทั้งหมด 33 บริษัท 49 ซอง โดยคาดกันว่าช่องที่ผู้ประกอบการสนใจก็คือช่องเอชดี หรือวาไรตี้คมชัดสูง และเอสดี หรือวาไรตี้มาตรฐานแต่เมื่อยื่นขอรับการประมูล ช่องเอชดี กลับมีผู้ยื่นขอเคาะประมูลเพียง 9 ราย จากที่กำหนดไว้ 7 ช่อง คือ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด  (ช่อง 7 ), บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท พี เอ็ม กรุ๊ป จำกัด, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด  (ช่อง 3 ), บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด, บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด และบริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐ) ซึ่งบริษัท จันทร์ 25 จำกัด (ของนางสุรางค์ เปรมปรีดิ์) ที่จับตามองว่าหากยื่นช่อง เอชดี แข่งกับช่อง 7 อาจจะไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ เนื่องจากคุณสุรางค์ ถือหุ้นในช่อง 7 ถึง 21% ซึ่งบทสรุปของศึกครั้งนี้ คุณสุรางค์ ไม่ยื่นประมูลช่อง เอชดี โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากให้มีผลกระทบกับช่อง 7 เห็นกับพนักงานที่มีความจงรักภักดีต่อครอบครัว ส่วนช่องเอสดี ได้รับความสนใจเกินคาด จากกำหนดไว้แค่ 7 ช่อง แต่มีผู้ยื่นประมูลถึง 16 ราย คือ บริษัท บีบีทีวี แซทเทลวิชั่น จำกัด (ช่อง 7 ),  บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด, บริษัท อาร์.เอส. เทเลวิชั่นจำกัด, บริษัทอมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ไทยรัฐ), บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท ทัช ทีวี จำกัด, บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง 3 ), บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด, บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด, บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด  และบริษัท ทรู ดีทีที จำกัด  สำหรับช่องข่าว กำหนด 7 ช่อง มีผู้มายื่นเคาะประมูล 10 ราย คือ บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด, บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (เดลินิวส์ ทีวี), บริษัท 3 เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, บริษัท ไอ-สปอร์ตมีเดีย จำกัด, บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท โพสต์ ทีวี จำกัด, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด  และบริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด และสุดท้ายช่องเด็ก/เยาวชน/ครอบครัว กำหนด 3 ช่อง มีผู้มายื่น 6 ราย คือ บริษัท โรสมีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด, บริษัท ไทยทีวี จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท เนชั่น คิดส์ จำกัด และบริษัท ทรู ดีทีที จำกัด จากราคาประมูลเริ่มต้นกำหนดไว้ช่องเอชดี ราคาเริ่มต้นที่ 1,510 ล้านบาท เคาะเพิ่มครั้งละ 10 ล้านบาท ช่องเอสดี เริ่มต้น 380 ล้านบาท เคาะครั้งละ 5 ล้าน ส่วนช่องข่าว เริ่มต้น 220 ล้านบาท เคาะครั้งละ 2 ล้านบาท และช่องเด็ก/เยาวชน/ครอบครัว เริ่มต้น 140 ล้านบาท เคาะครั้งละ 2 ล้านบาท ศึกชิงช่องเอสดี ครั้งนี้อาจเป็นเพราะราคาประมูลสูงลิ่วของช่องเอชดี ที่เริ่มต้นก็ 1,510 ล้านบาทแล้ว พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.และ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) บอกว่า กสท. กำหนดเบื้องต้นให้มีการประมูลวันละ 1 หมวดหมู่เท่านั้น เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายยื่นประมูล 2 หมวดหมู่ และจากนี้ผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูลจะต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเอกสาร การถือหุ้น โครงสร้างบริษัทต่าง ๆ ภายในกรอบ 45 วัน เพื่อประกาศผลผู้ที่มีสิทธิประมูลอีกครั้ง ซึ่งหากผู้ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบเอกสาร เงินหลักประกัน 10 % ของหมวดหมู่ที่ยื่นประมูลจะได้รับคืนหรือแม้กระทั่งหากผู้เข้าร่วมประมูลเคาะราคาแพ้ ภายใน 30 วัน หลังประกาศผล กสทช.จะคืนเงินให้ผู้แพ้ทันที ประมาณ 13 ธันวาคมนี้ ต้องลุ้นกันอีกทีว่า ใครจะมีสิทธิเข้าร่วมประมูลกันบ้าง ส่วนการประมูลนั้นหากไม่ติดปัญหาใด ๆ คาดว่าปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า คงได้เห็นโฉมหน้าผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลตัวจริง.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : แข่งเดือดทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการแย่งช่องเอสดี เปิดตัวผู้เข้าแข่งขันอย่างเป็นทางการอีกรอบ…

Posts related