นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมเปิดเผยหลังประชุมแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปการทำแผนกู้วิกฤตทั้ง 2 หน่วยงาน เพราะแผนของการบินไทยยังไม่ชัดเจนเรื่องการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ขณะที่ ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางใดล้างขาดทุนสะสม การบริหารที่ดิน รวมถึงการชำระหนี้บำนาญที่การรถไฟฯต้องรับภาระไปอีก30 ปี วงเงิน 60,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงจะขอกระทรวงการคลัง ยืดเวลาส่งแผนฟื้นฟูวิกฤตทั้ง2 รัฐวิสาหกิจใหญ่ จากสัปดาห์นี้ไปเป็นสัปดาห์หน้าแทน “ทั้ง 2 หน่วยงานมีปัญหาขาดทุนมากที่สุดจึงต้องเร่งพิจารณาก่อน เพื่อเร่งให้เสร็จภายใน 15 วันตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)กำหนดไว้เบื้องต้นได้สั่งการให้การบินไทยกลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงรายได้ลดลง รวมถึงสถานการณ์การแข่งขันกับคู่แข่ง โดยให้เสนอกลับมาอีกครั้งวันที่ 30ก.ค.นี้  ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.)หรือซูเปอร์บอร์ดต่อ” ทั้งนี้การทำแผนของการบินไทยต้องฉายภาพให้ชัดเจนกว่านี้ จึงจำเป็นต้องหารือร่วมกันอีกรอบต้องนำแผนยุทธศาสตร์ที่มีให้สอดรับกับแผนฟื้นฟูทั้งด้านการบริหารจัดการ บุคคลการให้บริการ การเงิน ซึ่งต้องแยกออกเป็นหมวดๆให้ชัดว่าเป็นอย่างไร  แต่แม้การบินไทยจะขาดทุนอยู่ แต่ก็ถือเป็นองค์กรมีศักยภาพเพราะมีทรัพย์สินถึง3 แสนล้านบาทสูงกว่าหนี้ นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า ได้ให้ ร.ฟ.ท.ไปทำสรุปแยกรายละเอียดหนี้สะสม109,317ล้านบาท ในส่วนที่รัฐจะต้องรับภาระและส่วนที่ ร.ฟ.ท.ต้องรับผิดชอบ  เพื่อสรุปให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาวันที่ 1 ส.ค. นี้ก่อนที่จะนำเสนอ สคร. ส่วนแผนการปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท. จากเดิมกำหนดขยายรถไฟทางคู่การจัดหารขบวนรถ หัวรถจักรและระบบอาณัติสัญญาณให้ได้ปี 53 – 57 แต่ปรากฏว่าการดำเนินงานไม่มีความคืบหน้าจึงต้องปรับเป็นแผนดำเนินการปี57–60ทำให้ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป จะเป็นช่วงที่ ร.ฟ.ท.เริ่มหารายได้เดินรถได้อย่างเต็มที่  แต่ช่วงรอยต่อปี 57-60จะต้องทำแผนเพิ่มว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ส่วนการพัฒนาที่ดินตอนนี้มีที่ดินที่ใจกลางเมือง3 แปลง ได้แก่ ย่านมักกะสัน ย่านพหลโยธิน และสถานีแม่น้ำ  และพื้นที่ในต่างจังหวัดอีก 11 แปลง  จะต้องไปพิจารณาในการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งหาข้อสรุปว่าจะนำที่ดินไปให้กรมธนารักษ์ไปบริหารแทนเพื่อล้างหนี้สินสะสมที่มีอยู่ หรือจะเลือกบริหารเอง ขณะที่ภาระเงินบำนาญที่ร.ฟ.ท. ต้องรับภาระปีละ 3,000 บาทไปจนถึงปี 90 ให้ฝ่ายบริหารไปหาทางแก้ไข เช่น อาจเข้าร่วมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) หรือส่วนอื่นๆเพื่อลดภาระ ด้านนายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า หากมีการแบ่งแยกหนี้ของ ร.ฟ.ท.สรุปจะเหลือหนี้ที่รฟท.ต้องรับภาระจริงแค่ 20,000 ล้านบาท เพราะในกรอบหลักเงินลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและขาดทุนจากการดำเนินงานรัฐจะต้องรับภาระ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : คมนาคมตีกลับแผนกู้หนี้บินไทย รถไฟ

Posts related