หลังจากเจอโรคเลื่อนมาหลายรอบ ในที่สุดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ไฟเขียวผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 สำเร็จ โดยมติครั้งนี้ถือว่าไม่ได้พลิกความคาดหมายนัก เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องพึ่งพาการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทั้งในมิติเศรษฐกิจซึ่งต้องอาศัยการลงทุนจากภาครัฐเป็นตัวชูโรง ขณะที่ระบบคมนาคมขนส่งที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมานานจำเป็นต้องเร่งฉีดยา ไม่เช่นนั้นจะตกขบวน ไม่ทันเปิดประชาคมอาเซียน เช่นเดียวกับมิติการเมืองที่การลงทุนครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับ คสช. โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่เข้ามาเชื่อมโยงเต็มตัว ***ความเหมือนที่แตกต่าง 2 ยุทธศาสตร์ ที่มาของยุทธศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการหยิบโครงการลงทุนคมนาคมขนส่งที่ค้างคาในอดีตส่วนใหญ่บรรจุอยู่ใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาลชุดที่แล้วขึ้นมาทบทวนให้เหมาะสมและคุ้มค่ามากขึ้น ทำให้รายละเอียดโครงการต่าง ๆ ในยุทธศาสตร์นี้จึงคล้ายคลึงกับแผน 2 ล้านล้านบาท แต่จุดที่แตกต่างกัน คือยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของ คสช. กินเวลายาวนานกว่าจาก 7 ปี เป็น 8 ปี และดึงแผนการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจเข้ามารวมอยู่ด้วย ซึ่งต่างจากแผน 2 ล้านล้านบาท ที่เน้นดูแค่การลงทุนและใช้งบจากหน่วยงานราชการเป็นหลัก ซึ่งไม่มีแผนทางอากาศ และการลงทุนจากรัฐวิสาหกิจรวมอยู่ด้วย ส่งผลให้ในยุทธศาสตร์การลงทุนของ คสช. ฉบับนี้ มีขอบเขตใหญ่โตกว่าโครงการ 2 ล้านล้านบาท ครอบคลุมระบบขนส่งคมนาคมให้เชื่อมต่อกันได้ทุกมิติทั้ง ถนน น้ำ ราง อากาศ และเชื่อมอาเซียนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้มีเงินลงทุนถ้าทำครบตามแผนจะทะลุเกิน 3 ล้านล้านบาทไปด้วย แต่ถ้านับเฉพาะงบลงทุนของรัฐโดยตัดงบรัฐวิสาหกิจออกไปจะใช้เงินประหยัดกว่ารัฐบาลที่แล้วไม่ถึง 2 ล้านล้านบาทแน่ นอกจาก น้ียังมีที่มาของการจัดทำงบไม่เหมือนกันโดย คสช. เลือกการพิจารณาลงทุนเป็นรายโครงการ ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนที่เลือกออกกฎหมายเป็นภาพรวมใหญ่ทั้งหมด ข้อดีก็คือมีความรอบคอบและยืดหยุ่นในการใช้งบ แต่ก็มีความเสี่ยงที่โครงการจะขาดความต่อเนื่องในอนาคต หากมีการเปลี่ยนแปลงขั้วการเมือง อย่างไรก็ดี คสช. ได้ตั้งให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้า คสช. ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดทำรายละเอียดโครงการ งบการลงทุน แหล่งเงินทุน รวมทั้งดึงโครงการที่จำเป็นที่ต้องทำแน่นอนมาอยู่ในแผนก่อสร้างระยะเร่งด่วนปี 57-58 อีกด้วย ซึ่งมีทั้งโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง รถไฟกึ่งความเร็วสูง โครงการรถไฟฟ้าในเมือง 10 สาย รวมถึงการสร้างถนน 4 เลน เชื่อมตามด่านชายแดนรับการเปิดเสรีอาเซียน ***เพิ่มแผนอากาศ ลดไฮสปีดเทรน ด้านรายละเอียดโครงการที่แตกต่างกันทั้ง 2 ฉบับ คือ ยุทธศาสตร์ คสช. นำโครงการพัฒนาน้ำและอากาศของรัฐวิสาหกิจเข้ามาใส่ในแผนด้วย เช่น การขยายสนามบินสุวรรณภูมิระยะที่สอง ดอนเมือง อู่ตะเภา  ขณะที่ทางน้ำนำแผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังมาใส่เพิ่ม ทางถนนได้เพิ่มเส้นทางขยายทางหลวงเพื่อเชื่อมกับด่านการค้าชายแดนให้มากขึ้น แต่ไฮไลต์ที่ชัดสุดคือ การปรับแผนโครงการรถไฟความเร็วสูง  (ไฮสปีดเทรน) ให้เหลือเป็นแค่รถไฟรางมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งลดความเร็วจาก 250 กม.ต่อชั่วโมง เหลือ 160 กม. และลดเส้นทางจาก 4 สาย เหนือ ใต้ อีสาน และตะวันออก เหลือ 2 สายเพียงสายเหนือและอีสาน แต่ต่อขยายเส้นทางให้ยาวขึ้น เพราะ คสช. มองว่าการทำไฮสปีดยังไม่จำเป็นในตอนนี้  ไม่คุ้มค่าและสิ้นเปลือง อีกทั้งเส้นทางเดิม 4 ภาคยังไม่เชื่อมโยงกับการค้าชายแดน จึงต้องปรับใหม่ให้สายเหนือเริ่มจากเชียงของ สายอีสานเริ่มจากหนองคาย เพื่อรองรับการเชื่อมต่อจากจีนตอนใต้มา สิ้นสุดที่ท่าเรือแหลมฉบังแทน เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นประตูการค้าอาเซียนชัดเจน แต่ในการลงทุนราง คสช. ยังเลือกลงทุนแบบเดียวกับไฮสปีดเทรน เผื่อรองรับการทำไฮสปีดเทรนในอนาคตได้ด้วย ส่วนงบประมาณที่ใช้ในรถไฟกึ่งความเร็วสูง เบื้องต้นจะใช้ถึง 741,460 ล้านบาท สูงกว่าไฮสปีดเทรน 4 เส้นทางของรัฐบาลเดิม เพราะเส้นทางยาวถึง 1,392 กม. ***รอเลือกแหล่งเงินทุนไม่เน้นกู้ ส่วนคำถามของที่มาแหล่งเงินทุน ในเบื้องต้นจะนำแหล่งเงินจาก 5 ทาง คือ งบประมาณรัฐ, การกู้ผ่าน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ, รายได้จากรัฐวิสาหกิจ, การร่วมทุนรัฐกับเอกชน และการตั้งกองทุนระดมเงินทุน แต่นโยบาย คสช. ต้องการกู้ให้น้อยสุด และคงเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 50% ของจีดีพี โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลัง ระบุว่าแผนการก่อหนี้ปี 58 เบื้องต้นจะอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม ส่วนใหญ่เน้นการศึกษาและเตรียมความพร้อมเป็นหลัก แบ่งเป็นการใช้งบประมาณประจำปี 20,000 ล้านบาท การกู้เพื่อลงทุน 65,000 ล้านบาท การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในรูปแบบพีพีพี  7,000 ล้านบาท การกู้ของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนเอง 20,000 ล้านบาท และใช้รายได้ของตัวเองมาลงทุนอีก 43,000 ล้านบาท แต่ในปีถัดไปซึ่งรัฐจะเริ่มก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ จำเป็นต้องหาแหล่งเงินอื่นเข้ามาช่วยเสริมด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่า โครงการขนาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องกู้ทั้งหมด แต่ควรดึง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อให้เอกชนมาร่วมลงทุนกับรัฐมากกว่า ***ห่วงวัสดุก่อสร้าง -แรงงานขาดแคลน อีกประเด็นที่เป็นเรื่องท้าทายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือการเตรียมพร้อมของผู้รับเหมา และวัสดุก่อสร้าง เพราะต้องยอมรับว่า การลงทุนครั้งนี้เป็นอภิมหาเมกะโปรเจคท์ แถมยังใช้เวลาการก่อสร้างที่รวดเร็ว ดังนั้นหากรัฐไม่บริหารเตรียมวัสดุก่อสร้างอิฐ หิน ปูน ทราย เหล็ก หรือแรงงานล่วงหน้าอาจล่าช้าในตอนลงมือก่อสร้างได้ เพราะขณะนี้ลำพังปริมาณหินและทรายในวงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปยังเริ่มไม่เพียงพอ เพราะประสบปัญหาการอนุมัติสัมปทานหิน และการขุดทรายที่ล่าช้า แต่ในส่วนเหล็กและปูนซีเมนต์ยังมีเหลือพอ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องไขลานระบบสัมปทานให้พร้อม รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่น่าเป็นปัญหาใหญ่สุด เพราะขนาดโครงการ 2 ล้านล้านบาท ยังประเมินว่าหากลงทุนทำจริงทั้งหมดต้องขาดแคลนแรงงานถึง 100,000-200,000 คน ซึ่งรัฐบาลยุคนั้นได้เตรียมให้ชาวอินเดีย บังกลาเทศมาจดทะเบียนเป็นแรงงานรับเหมาชั่วคราวกันเลยทีเดียว คสช. จะต้องเตรียมรับมือให้ดี อีกคำถามจากสังคมที่ต้องการเห็นคือ จะทำอย่างไรให้ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานฯ ครั้งนี้มีความโปร่งใส เพราะในยุคนี้การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่สังคมตื่นตัวและให้ความสำคัญมาก แม้กระทรวงคมนาคมยืนยันว่าทุกโครงการต้องเปิดเผยต่อสาธารณะได้ และยังผ่านการพิจารณาจาก สศช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  (สตง.) แต่ คสช. ก็ต้องเพิ่มแนวทางการทำโครงการให้ชัดเจนมากกว่าเดิม เพื่อให้ประชาชนไว้ใจได้ว่างบประมาณและภาษีของประชาชนถูกใช้ไปคุ้มค่าอย่างแท้จริง. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ผ่าแผนโครงสร้างพื้นฐาน นับถอยหลังสู่การลงทุน

Posts related