วันที่ 12 ส.ค.57 เมื่อเวลา 12.30 น. นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงกรณีที่ได้มีข่าวว่ามีร้านรับแลกซื้อเหรียญกษาปณ์ ชนิดราคา 10 บาทที่ผลิตใน ปี 2533 ในราคาเหรียญละ 100,000 บาท  เนื่องจากมีจำนวนผลิตเพียง 100 เหรียญนั้น กรมธนารักษ์ได้ตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดแล้ว พบว่าในปี 2533 กรมฯได้เข้าร่วมการประชุม มิ้น ไดเรคเตอร์ คอนเฟอร์เรนซ์ ครั้งที่ 16 จัดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ จึงได้ผลิตเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 10 บาทขึ้น เพื่อมอบเป็นที่ระลึกให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นตัวแทนจากโรงกษาปณ์รัฐบาลของประเทศต่างๆ และมีผู้จำหน่ายเครื่องมือ เครื่องจักรต่างๆ เกี่ยวกับเหรียญเข้าร่วมด้วย”เหรียญกษาปณ์ ชนิดราคา 10 บาทที่กรมธนารักษ์ผลิตในปี 2533มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปมอบเป็นที่ระลึกในการประชุมดังกล่าว ให้แก่ชาวต่างประเทศทุกคนที่เข้าร่วมการประชุม  โดยจัดทำเป็นแผงเหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ส่วนจะเป็นจำนวน 100 เหรียญหรือไม่นั้น กรมธนารักษ์จะตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้งว่าได้มอบเป็นที่ระลึกแก่ที่ประชุมดังกล่าวทั้งหมดหรือไม่ โดยได้ชี้แจ้งให้สื่อมวลชนทราบต่อไป”อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา 10 บาท โลหะสองสี ผลิตออกใช้ในปี 2531 เป็นครั้งแรก โดยกรมธนารักษ์ผลิตเอง 60,200 เหรียญ ต่อมาในปี 2532 เพื่อให้มีเหรียญกษาปณ์โลหะสองสี ชนิดราคา 10 บาท เพียงพอต่อการใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจซึ่งสำนักกษาปณ์กรมธนารักษ์ยังไม่สามารถผลิตได้ด้วยตนเองในจำนวนที่มากพอ จึงได้สั่งซื้อเหรียญ 10 บาท สำเร็จรูปจาก ดิ อิตาเลียน เสตรท มิ้น ประเทศอิตาลี จำนวน 100 ล้านเหรียญ ซึ่งได้ทยอยส่งมอบให้กับกรมธนารักษ์ในปี 2532-2533ทั้งนี้ ในปี 2533 กรมธนารักษ์ได้สั่งซื้อเหรียญตัวเปล่า 10 บาท จาก บริษัท โอลิบัส ประเทศสหรัฐอเมริกา 50 ล้านเหรียญ เพื่อมาตีตราเป็นเหรียญสำเร็จรูปเอง แต่เมื่อปรากฎว่าเหรียญ 10 บาทที่ซื้อเข้ามาในปี 2532 ประชาชนไม่นิยมแลกไปใช้ เนื่องจากยังมีธนบัตร ราคา 10 บาท ที่ยังผลิตให้ประชาชนได้ใช้อยู่ กรมธนารักษ์จึงไม่ได้ผลิตเหรียญชนิดราคา10บาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ธนารักษ์แจงผลิตเหรียญ 10 บาท ปี 33

Posts related