รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า การจดทะเบียนยกเลิกกิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 5,850 ราย ลดลง51.43% เทียบกับครึ่งปีหลังของปี 56 โดยทุนจดทะเบียนที่ยกเลิกกิจการมีมูลค่า 24,203 ล้านบาท ลดลง 68.15% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาและสาเหตุที่เปรียบเทียบกับครึ่งปีหลัง 56 เพราะต้องการให้เห็นถึงแนวโน้มการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่า เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยประเภทกิจการที่ยกเลิกมากที่สุด คือ การขายสลากกินแบ่ง เพราะเป็นกิจการที่เปิด – ปิดง่าย , ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย , ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่ที่พักอาศัย , บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ ,ภัตตาคาร- ร้านอาหาร   สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งกิจการใหม่มีจำนวน 29,466 ราย ลดลง 4.7% เทียบกับครึ่งปีหลังของปี 56 โดยทุนจดทะเบียนของกิจการจัดตั้งใหม่มีมูลค่า118,763 ล้านบาท ลงลง 25.01% กิจการที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด คือ การก่อสร้างอาคารทั่วไป ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นที่พักอาศัย ขายส่งเครื่องจักร บริการอาหารในภัตตาคารร้านอาหาร และกิจกรรมให้คำปรึกษา   ส่วนสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของเอสเอ็มอี ในช่วง 6เดือนแรกของปี 57 พบว่า มีทิศทางที่ดีขึ้นโดยการส่งออกของเอสเอ็มอี มีมูลค่ารวม 980,419.86 ล้านบาท ขยายตัว 14.77% โดยตลาดหลักที่ส่งออกสูงสุด คือ จีน มูลค่า 115,449.04 ล้านบาท รองลงมา ญี่ปุ่น มูลค่า 95,184.91 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 72,224.34 ล้านบาท ฮ่องกง มูลค่า 69,208.39 ล้านบาท โดยสินค้าที่มีการส่งออกสูงสุด คืออัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของทำด้วยพลาสติก เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ยานยนต์และส่วนประกอบ ด้านการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 1,074,005.84ล้านบาท ลดลง 13.20% โดยตลาดนำเข้าสูงสุด ได้แก่ จีน มูลค่ารวม288,939.91 ล้านบาท รองลงมา คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 158,487.79ล้านบาท สหรัฐอเมริกา มูลค่า 62,750.90 ล้านบาท สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 53,204.25ล้านบาท และมาเลเซีย มูลค่า 51,489.34 ล้านบาท สินค้าที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อัญมณีและเครื่องประดับ พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า   “มาตรการเร่งรัดการใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุนของภาครัฐ และเร่งรัดกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณปี 57 รวมถึงเตรียมความพร้อมในใช้งบประมาณประจำปี 58 จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 57ให้มีทิศทางการขยายตัวที่ดียิ่งขึ้น”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เอสเอ็มอีฟื้นยอดจดทะเบียนพุ่ง

Posts related