สัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่า คนใช้รถ โดยเฉพาะกลุ่มเบนซิน ได้เต็มอิ่มกับนโยบายคืนความสุขให้คนไทยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างแน่นอน หลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายแห่งชาติ (กบง.) ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ คสช. นั่งเป็นประธาน  สั่งปรับโครงสร้างราคาน้ำมันครั้งใหญ่หั่นภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ราคาน้ำมันขายปลีกลดทันที 1-3.89 บาท เพื่อต้องการสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและที่สำคัญต้องการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนอีกด้วย  สาเหตุที่ต้องหั่นการจัดเก็บรายได้ทั้ง 3 ประเภทนี้ ซึ่งมีสัดส่วน 15% ของราคาน้ำมันขายปลีก เนื่องจากเป็นสิ่งเดียวที่รัฐ สามารถบริหารจัดการแล้วจะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดได้ทันที ชนิดเหมือนเสกได้ เพราะจากโครงสร้างราคาน้ำมันอีก 2 ส่วน คือ เนื้อน้ำมัน คิดเป็น 81% ของราคาน้ำมัน ไม่สามารถแตะต้องได้เพราะขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ส่วนค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน คิดเป็น 4% ของราคาน้ำมันในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 1.5 บาท ถือว่าต่ำมากจากราคาที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 1.5-2 บาท ใจปาหั่นเบนซิน 3.89 บ. ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน ลดลง 3.89 บาท เหลือลิตรละ 44.86 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง  2.13 บาท เหลือลิตรละ 37.80 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลงลิตรละ 1.70 บาท เหลือลิตรละ 35.78 บาท แก๊สโซฮอล์ อี 20 ลดลง 1 บาท เหลือลิตรละ 33.98 บาท ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น  0.14 บาท เป็นลิตรละ 29.99 บาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อรักษาระดับเพดานราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันดีเซลหากปรับขึ้นสูงมาก จะมีผลต่อจิตวิทยาในด้านการขนส่งทันที แม้ขณะนี้ผู้ประกอบการหลายส่วนจะเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์เป็นก๊าซเอ็นจีวีแล้วก็ตามแต่เมื่อมีการปรับขึ้นราคาดีเซล ทางผู้ประกอบการขนส่งจะต้องออกมาแห่ร้องขอปรับขึ้นราคาค่าขนส่งทันทีและจะมีผลต่อราคาสินค้าอีกด้วย เพราะเป็นหนึ่งในต้นทุนราคาสินค้า ทาง คสช. จึงพยายามประคองราคาไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ภาครัฐมีแต่ได้กับได้ ผลจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันครั้งนี้ ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีรายได้ปรับลดลงทันที 1,109 ล้านบาทต่อเดือน จากรายรับ 3,557 ล้านบาทต่อเดือน เหลือ 2,448 ล้านบาทต่อเดือน   แต่เมื่อ กบง. ดีดลูกคิดแล้ว ถือว่าคุ้มค่า เพราะแม้รัฐจะเสียรายได้จากการลดภาษีในกลุ่มเบนซินกว่า 840 ล้านบาทต่อเดือน แต่ก็จะมีรายได้จากการปรับภาษีดีเซลขึ้นมาประมาณเดือนละ 1,230 ล้านบาท เพราะกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลมีถึง 60 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่  กลุ่มผู้ใช้เบนซิน มีเพียง 20 ล้านลิตรต่อวัน บวกลบคูณหารแล้วเท่ากับว่า รัฐฯ จะได้รายได้เพิ่มในกระเป๋าประมาณ 400 ล้านบาทต่อเดือน   ขณะที่สถานะกองทุนน้ำมันฯ แม้ปัจจุบันจะติดลบอยู่ 6,873 ล้านบาท และรายได้จะลดลง 1,109 ล้านบาท ก็ตาม แต่ก็ถือว่ายังมีรายได้เข้ามาเดือนละ 2,448 ล้านบาท จึงคาดว่า สถานะกองทุนน้ำมันฯ จะกลับมาเป็นบวกได้ภายในเวลา 3 เดือนแน่นอน เพราะตอนนี้ถือเป็นเวลาดีที่ราคาน้ำมันอยู่ในช่วงขาลง จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน เบนซินลดอีก-ดีเซลพุ่ง  ข่าวดีในเรื่องราคาน้ำมันยังไม่จบเท่านี้ เพราะล่าสุด “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า คสช. ต้องการเห็นภาษีสรรพสามิตของราคาน้ำมันในแต่ละประเภทให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันคือประมาณลิตรละ 3 บาท เพราะต้องการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้น้ำมันทุกประเภท หากดูจากตารางภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บใหม่แล้วจะพบว่า ภาษีสรรพสามิตในกลุ่มเบนซินยังอยู่ในระดับสูงประมาณ 4–5 บาท ก็เท่ากับว่า ราคาน้ำมันเบนซินจะมีโอกาสได้เฮลดลงอีกรอบ  ขณะที่ผู้ใช้น้ำมันดีเซล คงต้องพบกับข่าวร้าย เพราะยังเก็บภาษีสรรพสามิตในระดับที่ต่ำมาก คือ 0.75 บาทเท่านั้น ก็ต้องวัดใจว่า รัฐบาลชุดใหม่จะมีแนวทางการเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลอย่างไร เพราะเหมือนที่ระบุไว้ตอนต้นว่า น้ำมันดีเซลเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนค่าขนส่ง แต่ในปัจจุบันกลับมีรถยนต์หลายประเภท โดยเฉพาะรถหรู หันมาใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มเบนซิน ส่วนใหญ่ผู้ใช้คือรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ในสถานการณ์ปัจจุบันเท่ากับว่า รถมอเตอร์ไซค์ ช่วยจ่ายค่าภาษีฯ น้ำมัน ให้รถหรูได้ใช้สบายในราคาถูกอยู่!  หวั่นคนแห่ใช้เบนซิน 95 แต่จากนโยบายการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันในครั้งนี้แม้ประชาชนจะพอใจ แต่ก็มีหลายฝ่ายออกมาแสดงความวิตกกังวลว่า การปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน 95 ถึงลิตรละ 3.89 บาท จะทำให้ผู้ใช้รถแห่กลับมาใช้น้ำมันประเภทนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ภาครัฐพยายามรณรงค์ให้ผู้ใช้รถหันมาเติมน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีส่วนผสมของพลังงานทดแทนอย่างไบโอดีเซล เพราะหากผู้ใช้รถแห่มาเติมน้ำมันเบนซิน 95 จะทำให้การนำเข้าน้ำมันสูงมากขึ้น ยิ่งขาดดุลมากเท่านั้น คนใช้ก๊าซฯ ทำใจจ่อขึ้น เรื่องโครงสร้างราคาพลังงานนั้นไม่ใช่มีแค่ราคาน้ำมันตัวเดียวเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่า ยังมีเรื่องราคาก๊าซอีกด้วย ทั้งก๊าซเอ็นจีวี และก๊าซแอลพีจี ซึ่งเร็ว ๆ นี้ ทาง กบง. จะมีการพิจารณาอีกครั้งและมีแนวโน้มสูงว่าจะต้องปรับขึ้นราคาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะแก๊ส แอลพีจี ภาคขนส่ง  เพราะขณะนี้ราคาถูกตรึงไว้ที่ 21.38 บาทต่อ กก. ต่ำกว่าราคาแก๊สแอลพีจี ภาคครัวเรือน อยู่ที่ กก.ละ 22.63 บาท ห่างกันถึง กก.ละ 1.25 บาท และสถานการณ์ล่าสุดเริ่มส่งกลิ่นไม่ดี เพราะมีการลักลอบใช้ถ่ายเทจากภาคขนส่งมายังครัวเรือน และบางพื้นที่มีการขนถังแก๊สครัวเรือนไปเติมในปั๊มแอลพีจี รวมทั้งภาครัฐต้องใช้เงินเกือบ 2 แสนล้านบาท ผ่านกองทุนน้ำมันฯ ในการอุ้มราคาแอลพีจีให้ถูกกว่าราคาตลาดโลกอย่างมาก และต้องลุ้นว่า กบง. จะปรับราคาแก๊สแอลพีจี ภาคขนส่ง ครั้งเดียว 1.25 บาท เลยหรือไม่  ขณะที่ราคาก๊าซเอ็นจีวี ก็เช่นกันราคาถูกตรึงไว้ที่กิโลกรัมละ 10.50 บาท มายาวนาน ซึ่งตรงส่วนนี้ได้ให้ บมจ.ปตท. เป็นผู้แบกรับส่วนต่างไว้ ทาง บมจ.ปตท. ก็ได้อ้อนรัฐบาลหลายครั้ง ขอปรับขึ้นราคา โดยทางภาครัฐได้ยื่นข้อเสนอให้ขยายปั๊มเอ็นจีวีเพิ่มเติม จนถึงขนาดนี้ ทาง บมจ.ปตท. ก็ได้ทยอยขยายปั๊มเอ็นจีวี แต่การปรับขึ้นราคาก็ยังเงียบสนิทอยู่ งานนี้จึงต้องวัดใจรัฐบาลชุดใหม่ว่า จะมีแนวทางอย่างไรในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้ทั้งถูกใจประชาชน ถูกต้องตามกลไกตลาดโลก และถูกทางการรณรงค์ประหยัดพลังงาน เพราะถ้ามัวแต่เอาใจลดสะบั้นหั่นแหลกจนประชาชนเหลิงใช้พลังงานที่มีจำกัดอย่างฟุ่มเฟือยต่อไป เชื่อว่าอนาคตปัญหาพลังงานขาดแคลนจะกลายเป็นวิกฤติระดับชาติแน่นอน. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ข่าวดี!คนใช้รถเฮน้ำมันลดฮวบ ข่าวร้าย…ก๊าซแอลพีจีจ่อขึ้นแน่

Posts related