กันยายน เป็นอีกเดือนในรอบปีที่มีฝนชุกหนาแน่น มีโอกาสเผชิญกับน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม หรือน้ำล้นตลิ่ง ปริมาณฝนอาจน้อยกว่าเดือนสิงหาคม แต่มักมีปัญหาจากฝนสะสมช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศของเดือนกันยายนให้ระวัง พายุหมุนเขตร้อน ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก หรือทะเลจีนใต้ มีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนเข้าใกล้หรือผ่านประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดฝนชุกหนาแน่น ถึงขั้นฝนหนักหรือหนักมากหลายพื้นที่ คำว่า น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งจะได้ยินบ่อย ขอให้คอยติดตามข่าวอากาศอย่างใกล้ชิด ส่วนที่จะเกิดเฉพาะหน้าในสัปดาห์นี้ กรมอุตุฯ คาดว่า วันที่ 31 ส.ค.ถึง 5 ก.ย.ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วมาเจอตัวการร่วม เป็น หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนกลาง ขณะที่ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมประจำฤดูกาลของฤดูฝน ก็ยังคงปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ปัจจัยทั้ง 3 จะทำให้บริเวณประเทศไท มีฝนกระจายถึงเกือบทั่วไป ราว 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ มีฝนตกหนักบางแห่ง ที่ต้องระวัง อยู่ระหว่างวันที่ 1 – 4 ก.ย. ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ต้องระวังฝนหนักและฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องไว้ ย้ำว่า ในสัปดาห์ต้นเดือนนี้ ตัวปัญหาจะอยู่ที่ ฝนที่ตกสะสมต่อเนื่องมาจากอาทิตย์ก่อนนู้น ในช่วงนี้ คนที่ติดตามข่าวอากาศ อาจมีงง กับข่าวน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้อย จนคาดว่าฤดูแล้งอีก 3 เดือนข้างหน้าจะขาดแคลน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีข่าวฝนหนัก น้ำท่วมที่โน่นที่นี่ อธิบายว่า ฝนที่ตกเป็นไปตามฤดูกาล แต่ยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30 ปี ตั้ง 30 เปอร์เซ็นต์ จึงมีน้ำไหลเข้าเขื่อนแบบกระปริบกระปรอย เขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำที่ใช้ได้จริงเพียง 1 – 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สถานการณ์ล่าสุด กรมชลประทาน ห่วงหน้าแล้งที่จะถึง ทางภาคตะวันออก ซึ่งมีทั้งอุตสาหกรรมหนักและภาคการท่องเที่ยวจะเดือดร้อน เพราะอ่างเก็บน้ำมีเหลือแค่ขอด จึงต้องใช้มาตรการสูบ ผันจากแหล่งอื่น ลงเติม โดย จ.ระยอง จะสูบจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่มีเยอะกว่า ไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อีกทางก็สูบจากแม่น้ำระยอง ไปเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้บริการ จากนั้น ก็ดึงน้ำจากคลองวังโตนด จันทบุรี ไปเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ การแชร์กันอย่างนี้ ที่จ.ชลบุรี ก็มีแผนจะทำ โดยจะสูบแม่น้ำบางปะกง ไปเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ การจัดการและการให้ข้อมูล ประสานงานด้านลมฟ้าอากาศ ของหน่วยงาน ทำให้การเตรียมป้องกัน รับมือปัญหามีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบที่จะเกิดอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ทุกคนต้องรับรู้และร่วมกันปฏิบัติ คือการใช้อย่างประหยัดและพอเพียง ภาครัฐ ก็ต้องคิดถึงการวางระบบการใช้น้ำ วางแผนการพัฒนาให้สอดรับกับทรัพยากรและลมฟ้าอากาศ ไม่ใช่คิดแต่จะเร่งการลงทุนอย่างเดียว ชวนคนไปเที่ยวในที่ไม่น้ำกิน น้ำใช้ ไม่สนุกหรอก หยาดน้ำฟ้า

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ฝนสะสม-พายุหมุนเขตร้อน – รู้หลบ

Posts related