นายธนวรรธน์  พลวิชัย  ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 57 อยู่ระดับ 80.1 สูงสุดในรอบ 13 เดือนและเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 4 เดือน เนื่องจากได้รับอานิงส์จากกรณีที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29  พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ รวมถึงคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% และระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91ลดลง 2.43 บาทต่อลิตร และ แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 2 บาทต่อลิตร เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะมีระดับที่ค่อนข้างสูง แต่ในความเป็นจริงเศรษฐกิจของไทยกลับเติบโตได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งไม่ดีตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้ โดยเฉพาะเรื่องของราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำทั้งยางพาราและข้าวเปลือก หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้นานเกินไป เชื่อว่าจะไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชน และเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลควรต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง ให้เห็นเป็นรูปธรรม อย่างชัดเจน “ความเชื่อมั่นด้านการเมืองเดือนนี้ปรับตัวดีขึ้น ทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 88 เดือน นับตั้งแต่ช่วงปี 49 และก็มองว่าในอนาคตความเชื่อมั่นด้านการเมืองจะใกล้เคียงที่ระดับ 100 แต่ทั้งนี้หากทางรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ชัดเจน ก็จะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะจะมีผลกดดันต่อความเชื่อมั่นด้านการเมืองสูง” สำหรับในด้านเศรษฐกิจภาพรวมนั้นหอการค้าไทยประเมินว่าในปี 57 จะขยายตัวได้ที่ 1.5-2% จากเดิมที่มองไว้ 2-2.5% เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวต่ำหรืออยู่ในระดับ 1-1.5% และภาคบริโภคยังไม่ฟื้นโดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำที่จะมีผลต่อการใช้จ่ายของเกษตรกร ดังนั้นกลไกหลักที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีมี 2 ด้าน คือ ภาคการท่องเที่ยวและการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างอยู่เพื่อทดแทนการส่งออกและการบริโภคในประเทศ ส่วนของการท่องเที่ยวนั้นเดิมทีมีการประเมินว่านักท่องเที่ยวจะคึกคักในช่วงต้นปี 58 แต่หากมีการยกเลิกกฎอัยการศึก และมีการเร่งเบิกจ่ายหรือลงทุนในการซ่อมแซมและก่อสร้างตามสถานที่ท่องเที่ยว ก็จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้คักคักให้เร็วขึ้นหรือในช่วงไฮซีซันนี้ “ในปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับ 1.5-2% โดยในครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ 0% หรือติดลบเล็กน้อย และจะขยายตัวในไตรมาสที่ 3 จะอยู่ที่ 3% และเพิ่ม เป็น 5% ในไตรมาสที่ 4 ของปี  ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการคือการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็วที่สุด  และต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 58 ให้ได้ 30% ภายในเดือน ต.ค. – ธ.ค. นี้ เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ”   นายวชิร  คูณทวีเทพ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  ปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค เช่น กรณีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( ส.ค. ) คาดการณ์จีดีพี ในปี 57 ขยายตัว 1.5-2.0%, การส่งออกในเดือน ก.ค. มีมูลค่า 18,896.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 0.9%  นำเข้ามีมูลค่า 19,998.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.9%  ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,102.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ,  ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวในระดับต่ำ, ผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง  และความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่กระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ดัชนีความเชื่อมั่นก.ย.สูงสุดรอบ13เดือน

Posts related