นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (เอฟไอที) เปิดเผยว่า ช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา ทั้งกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20 เช่น เยอรมัน ญีปุ่น ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ตลาดอาเซียนกลายเป็นแกนหลักในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นว่าจุดเด่นของไทยคือภาคเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหาร เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก ไม่มีใครสามารถล้มแชมป์ได้ แต่การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเป็นเรื่องจำเป็น โดยไม่ควรใช้ระบบอุปถัมภ์เหมือนที่ผ่านมา แต่จำเป็นต้องเพิ่มเทคโนโลยีและ คุณภาพให้ผลิตดีขึ้นสำหรับ อุตสาหกรรมรถยนต์แม้ไทยจะเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่มูลค่าตลาดซื้อขายรถยนต์อยู่ที่อินโดนีเซีย เพราะมีประชากรถึง 245 ล้านคน และอินโดนีเซียเพิ่งเริ่มจะมีรถคันแรก ขณะที่ไทยเริ่มมีรถยนต์คันที่ 2 ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว ด้วยการไม่พึ่งทัวร์จากภายนอกอย่างเดียว แต่ควรหาพันธมิตรร่วมทุน เพื่อพานักท่องเที่ยวไทยออกไปต่างประเทศ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านเริ่มโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกับไทย ทำให้นักท่องเที่ยวลดเวลาการพำนักในไทย จึงจำเป็นต้องหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ทำตลาดนอกจากนี้มองว่าในปี 73 กลุ่มชนชั้นกลางในอาเซียนที่มีอยู่ 400 ล้านคน จากประชากรอาเซียน 700 ล้านคน จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการบริโภคการ การบริการ สาธารณสุข ที่อยู่อาศัยจึง จำเป็นที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือการแข่งขันที่จะ เกิดขึ้นในอนาคต ทั้งเรื่องการศึกษา ระบบราชการ โลจิสติกส์ และขนส่ง แต่ยอมรับว่าข้อเสียของไทย คือการเมืองทำให้นโยบายไม่นิ่ง และไม่มีความต่อเนื่อง ต้องแก้ปัญหากันมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่าเศรษฐกิจอาเซียนเติบโตปีนี้ 5.4% และปีหน้า 5.8% ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า เป็นห่วงเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัวลง เช่น จีน และยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวนั้น จะกระทบส่งออกไทย เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงประเมินว่าส่งออกปีนี้โตเพียง 1.5% ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มฟื้นตัว แต่ไม่ได้ทำให้ส่งออกขยายตัวมากนัก ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ก็ตกต่ำส่วนการบริโภคภายในประเทศไม่ได้เติบโต ดังนั้นเห็นว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศของรัฐ เป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 58 วงเงิน 2.75 ล้านล้านบาท และงบลงทุนในโครงการต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เบิกจ่ายล่าช้า ทำให้มีงบประมาณเหลืออยู่ 300,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณเหลื่อมปีที่จะนำมาใช้ในปีหน้า

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : “สุรินทร์”แนะพัฒนาเกษตรไทยสู่เวทีโลก

Posts related