คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทค โนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัด “โครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และประกวดสิ่งประดิษฐ์ (iC-HiEd 2014)” ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ชิงรางวัลทุนการศึกษารวม 3 แสนบาท ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยการประกวดมีผลงานที่เข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวนรวม 25 ผลงาน เป็น พลังงานทางเลือก 8 ผลงาน เครื่องมือแพทย์ จำนวน 5 ผลงาน และเครื่องจักรกลการเกษตร จำนวน 12 ผลงาน ซึ่งผลตัดสินของคณะกรรมการ ปรากฏว่า 3 สิ่งประดิษฐ์สุดยอดที่มีไอเดียน่าทึ่ง โดยฝีมือคนรุ่นใหม่ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ประเภทพลังงานทางเลือก คือ รถปั่นพลังงานคน 20 ที่นั่ง รางวัลชนะเลิศประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร คือ หุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวราคาประหยัดเพื่อกำจัดศัตรูพืช และรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ประเภทเครื่องมือแพทย์ คือ ชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า น.ส.วรรณวิภา ราศี หัวหน้าทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงาน รถปั่นพลังงานคน 20 ที่นั่ง กล่าวว่า ผลงานรถปั่นพลังงานคน 20 ที่นั่ง มาจากแนวคิดรถที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันฟอสซิล และไร้มลพิษ แถมได้ออกกำลังกายเสริมสุขภาพให้แข็งแรงและเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ เหมาะสำหรับใช้ภายในหน่วยงานองค์กร เช่น รถทัศนาจรภายในมหาวิทยาลัย“ใช้เวลาออกแบบและผลิตประมาณ 6 เดือน ตัวถังเป็นรถบัสขนาดมาตรฐานตามกฎหมายการขนส่งที่เคลื่อนที่โดยใช้คนปั่น 20 ที่นั่ง ซึ่งมีแป้นถีบ จานและโซ่แบบจักรยาน รถมีเพลา 6 แถว และส่งกำลังผ่านโซ่ ขับเพลารวมไปที่เกียร์ ขับเคลื่อนล้อหลัง ในการขับเคลื่อนจะมีผู้คุมรถซึ่งทำหน้าที่เหยียบปล่อยคลัตช์เข้าเกียร์กระปุก 1-2-3 ตามระดับความเร็ว และเกียร์ถอยหลัง รวมทั้งการเหยียบเบรกเพื่อชะลอและหยุดรถ ส่วนเกียร์เป็นแบบทดแรงช่วยให้คนปั่นไม่ต้องออกแรงมากจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีไดนาโมสำหรับเก็บแรงปั่นเป็นไฟฟ้าสำหรับใช้กับไฟหน้า ไฟเลี้ยวและไฟภายในรถ น้ำหนักรถ 2 ตัน มีความเร็วสูงสุด 20 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง นับเป็นพาหนะที่ใช้พลังงานทางเลือกและเป็นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”ขณะที่รางวัลชนะเลิศประเภทเครื่อง จักรกลการเกษตร นายนวภัณฑ์ ศุภวัตน์ หัวหน้าทีมจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์ หุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวสำหรับกำจัดศัตรูพืช กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการสร้าง หุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าว มาจากการได้ศึกษาข้อมูลปัญหาของเกษตรกรสวนมะพร้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และไทยเราเป็นผู้ผลิตมะพร้าวรายใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันสวนมะพร้าว ทางภาคใต้มักจะประสบปัญหาเรื่องแมลงหนอนหัวดำระบาด กัดกินใบและยอดมะพร้าวทำให้มะพร้าวยืนต้นตายจำนวนมากในพื้นที่ระบาด เกษตรกรบางรายถึงขั้นทิ้งสวนมะพร้าวเพราะไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับปัญหานี้ดีจึงได้ออกแบบหุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวทำด้วยวัสดุอะลูมิเนียมมีน้ำหนักเบาโดยมีแท็งก์พร้อมหัวฉีดด้านหลังบรรจุยาหรือสารกำจัดศัตรูพืชได้ 2 ลิตร ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ 12 โวลต์ เคลื่อนที่ขึ้น-ลงด้วยล้อ 3 ล้อที่ทำจากวัสดุซูพิลีน ผู้ใช้ควบคุมการทำงานหุ่นยนต์ด้วยรีโมตคอนโทรล เมื่อหุ่นยนต์ไต่ขึ้นถึงยอดแล้วจะฉีดพ่นใต้ใบมะพร้าว ซึ่งแต่ก่อนเกษตรกรใช้รถเครนบรรทุกถังฉีดแล้วต่อท่อหัวฉีดแรงดันสูง ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเปลืองปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 10 ลิตรต่อต้น ส่วนคนที่ฉีดยาจะโดนละอองของสารเคมีไปด้วย หุ่นยนต์ไต่ต้นมะพร้าวจึงสามารถช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายยาปราบศัตรูพืช โดยลดปริมาณการใช้ยากำจัดศัตรูพืชจาก 10-20 ลิตรต่อต้น ให้เหลือเพียง 2 ลิตรต่อต้น รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกร การประดิษฐ์เน้นราคาประหยัด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีรายได้น้อยสุดท้ายเป็นผลงาน ชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า โดย นายพงษ์สิทธ์ มิสา หัวหน้าทีมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้ป่วยที่ต้องนั่งวีลแชร์และพิการหลายล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเนื่องด้วยไทยจะก้าวเป็นสังคมคนสูงวัยมากขึ้น แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนี้เพื่อจะได้ช่วยให้ผู้พิการที่นั่งวีลแชร์อยู่แล้วสามารถเพิ่มการติดตั้งชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้าเข้ากับส่วนหน้าของวีลแชร์ สำหรับการสัญจรภายในและนอกอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ“จุดเด่นของชุดถอดประกอบรถเข็นคนพิการแบบใช้ไฟฟ้า คือ มีน้ำหนักเพียง 20 กิโลกรัม ด้วยการออกแบบข้อต่อแบบพิเศษ ทำให้ผู้พิการสามารถถอดประกอบได้ด้วยตนเองและสะดวกง่ายดายเพียงยกแล้วหมุนบิดลงล็อก ส่วนปุ่มบังคับการเคลื่อนที่จะอยู่บนมือจับด้านขวา ล้อหน้าเมื่อวิ่งไปกระทบพื้นลูกคลื่นหรือทางชันบนฟุตปาธจะยก 2 ล้อหน้าของวีลแชร์ขึ้น ลดแรงสะเทือนลง ทำให้วิ่งได้เรียบด้วยล้อหน้า และ 2 ล้อหลังของวีลแชร์ ส่วนแบตเตอรี่ลิเธียมสามารถทำงานได้ 4-5 ชั่วโมงต่อการชาร์จไฟ หนึ่งครั้ง ไม่มีมลพิษ สิ่งประดิษฐ์นี้จึงช่วยให้ผู้พิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจและสังคม สามารถช่วยเหลือตัวเอง และทำภารกิจในชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น เป็นอุปกรณ์ในราคาประหยัดและช่วยลดการนำเข้า” นายพงษ์สิทธ์ กล่าวผศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นความสนใจ การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืน ช่วยลดการนำเข้าและการพึ่งพาจากต่างประเทศ และสร้างเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลงานประดิษฐ์คิดค้นด้านพลังงานทางเลือก เครื่อง จักรกลการเกษตรและเครื่องมือทางการแพทย์ พร้อมสร้างพันธมิตรและเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยสิ่งประดิษฐ์ของนิสิตนักศึกษาในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยด้วยนับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์จากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งทุกผลงานสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและพลังสร้างสรรค์พร้อมไอเดียของคนไทยที่สามารถตอบโจทย์และนำไปใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมได้จริง.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สิ่งประดิษฐ์‘iC-HiEd 2014’ – ฉลาดสุดๆ

Posts related