เชื่อว่าคุณผู้อ่านคอลัมน์วันพุธของผมหลายคนน่าจะคิดเหมือนผมนะครับว่า โซเชียลมีเดียหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาพลิกโฉมหน้า เปลี่ยนแปลงโลกศตวรรษที่ 21 ของพวกเราโดยสิ้นเชิงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  มีปรากฏการณ์ใหม่ ๆ มากมายที่เกิดขึ้นมาเพราะมีโซเชียลมีเดียเป็นตัวขับดัน ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ทางการเมือง หรือแม้แต่ทางธุรกิจเองที่เดี๋ยวนี้อีคอมเมิร์ซกับเอ็มคอมเมิร์ซแข่งกันผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดไม่เว้นแต่ละวัน เฟซบุ๊กเป็นบริการเครือข่ายสังคม  ที่มีคนใช้มากที่สุดในโลก มีจำนวนสมาชิกรวมทั่วโลกถึง 1.28 พันล้านคน พูดได้ว่าประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรทั้งโลกเป็นสมาชิกของโซเชียลมีเดียตัวนี้เลยล่ะครับ ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลขผู้ใช้ที่สูงขนาดนี้ย่อมส่งต่อ อานิสงส์ให้เจ้าของหรือผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กอย่างหนุ่มชาวอเมริกันชื่อ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในโลก โดยเขาสามารถมีเงินกว่า 33.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐได้ด้วยวัยเพียง 30 ปีเท่านั้นเอง ปรากฏการณ์เฟซบุ๊กหรือที่ผมขอเรียกว่า เฟซบุ๊กภิวัฒน์ (Facebookization) เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งนะครับที่ใช้เศรษฐกิจดิจิตอลสร้างสรรค์ผลิตเม็ดเงินหลักล้านล้านบาทให้แก่ผู้ก่อตั้งได้ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 10 ปี ธุรกิจแทบจะทุกธุรกิจที่เมื่อก่อนแค่มีเว็บไซต์ก็พอแล้ว เดี๋ยวนี้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีเฟซบุ๊กเพิ่มไปอีกอันด้วย ทั้งโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์กรของรัฐ ยันไปถึงธุรกิจห้างสรรพสินค้า ร้านค้า สถานบันเทิง หรือแม้แต่นักการเมือง ดารา บล็อกเกอร์คนดังทั้งหลายต่างก็ต้องมีเฟซบุ๊กแฟนเพจของตัวเองทั้งสิ้น แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดานะครับว่าเมื่อมีคนชอบก็ต้องมีคนชัง มีคนนิยมก็ต้องมีคนต่อต้าน มีแชมป์ก็ต้องมีคนคิดโค่นแชมป์ อย่าง เฟซบุ๊กเอง ณ ตอนนี้ก็มีหลายคนหลายค่ายที่กำลังพยายามสร้างปรากฏการณ์ใหม่มาเพื่อล้มเฟซบุ๊กภิวัฒน์นี้ลงจากบัลลังก์ให้จงได้ ตัวอย่างหนึ่งคือโซเชียลมีเดียที่เพิ่งเปิดตัวในปี ค.ศ. 2014 นี้ ที่ให้นิยาม ตัวเองว่าเป็นโซเชียล มีเดียสำหรับคนที่ไม่ชอบเฟซบุ๊ก (Anti-Facebook) โดยเฉพาะ ถ้าถามคุณผู้อ่านว่าไม่พอใจเฟซบุ๊กที่ตรงไหนบ้าง เชื่อว่าแต่ละคนก็คงมีความคิดเห็นต่างกันไปร้อยแปดพันเก้าใช่ไหมครับ สำหรับความไม่พอใจหลัก ๆ ของกลุ่มแอนตี้เฟซบุ๊กนี้ก็เช่น เรื่องพื้นที่โฆษณาบนเฟซบุ๊ก ที่เดี๋ยวนี้เยอะมากจนเกินไป และเรื่องนโยบายการเผยชื่อจริงของผู้ใช้งาน (Real-names Policy) ของเฟซบุ๊ก เป็นต้น ซึ่งกลุ่มคนที่ไม่พอใจเฟซบุ๊กเหล่านี้แทนที่จะอยู่เฉย ๆ ฝืนทนใช้เฟซบุ๊กต่อไป ก็ตัดสินใจรวมตัวกันภายใต้การนำของหนุ่มอเมริกันชื่อ พอล บัดนิตซ์ (Paul Budnitz) แล้วช่วยกันปั้นโซเชียลมีเดียตัวใหม่ขึ้นมาชื่อ เอลโล (Ello) ที่หักมุมจากความเป็นเฟซบุ๊กด้วยการเป็นเครือข่ายสังคมปลอดโฆษณา และเปิดกว้างให้ผู้ใช้สามารถตั้งชื่อได้อย่างเสรี ซึ่งสื่อต่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ในช่วงพีค ๆ มีคนเข้าไปลงทะเบียนขอใช้เอลโลมากถึง 40,000 คนต่อชั่วโมง ถือเป็นการเปิดตัวที่ไม่เลวเลยนะครับ ในศตวรรษที่ 21 ที่เศรษฐกิจดิจิตอลสร้างสรรค์เปิดโอกาสกว้างให้แก่ทุกคนอย่างตอนนี้ การแข่งขันไม่จำเป็นจะต้องเป็น Zero-Sum Game ที่ชัยชนะและผลประโยชน์ถูกแก่งแย่งแบ่งปันกันแต่เฉพาะในกลุ่มผู้แข่งขันโดยไม่ได้ส่งต่อมาถึงสังคมหรือต่อโลกเลยอีกแล้วครับ ยุคนี้สมัยนี้ที่โซเชียลมีเดียเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกัน การจะขึ้นแท่นเป็นผู้ชนะการแข่งขันที่ใสสะอาดและเต็มภาคภูมิได้ในสายตาของผู้คน จะไม่ใช่การใช้วิธีปัดแข้งปัดขา ชกใต้เข็มขัด หรือโยกขาเก้าอี้คนที่เราไม่ชอบอีกต่อไป หากแต่ต้องเป็นการตั้งหน้าตั้งตาสรรค์สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้ได้ผลออกมาดียิ่งกว่าคนที่เราไม่ชอบต่างหาก ซึ่งผลการแข่งขันนี้ไม่ว่าเราจะแพ้หรือชนะ แต่ทุกสายตาของโซเชียลมีเดียที่จับจ้องอยู่จะเป็นพยานครับว่าโลกของเราและสังคมของเราคือผู้ชนะ เพราะมีทั้งแชมป์เก่าและแชมป์ใหม่ช่วยกันงัดฝีไม้ลายมือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาแข่งกัน ทำให้โลกของเราเคลื่อนต่อไปได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนอย่างนี้นี่เอง.  ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เฟซบุ๊กภิวัฒน์ – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related