ในฤดูหนาว ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากความกดอากาศสูงที่แผ่ลงมา ลมประจำฤดูกาล เปลี่ยนจากลมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ ดันให้ร่องมรสุมที่เคยปกคลุมตอนบนของประเทศให้เลื่อนลงภาคใต้ ทำให้ทะเลฝั่งตะวันออกมีคลื่นลมแรง ฝนชุกหนาแน่นทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันได้ อากาศหนาวเย็นมากเท่าไหร่ คนภาคใต้ก็เสี่ยงมากเท่านั้น ตลอดช่วงสัปดาห์ ระหว่างวันที่   13-17 ต.ค. ความกดอากาศสูงกำลังค่อน ข้างแรงจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนอย่างต่อเนื่อง  ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน อุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า  ร่องมรสุมที่ถูกดันลงไปพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น จึงทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและตกหนักบางแห่ง กรมอุตุนิยมวิทยา เตือนพี่น้องภาคใต้ วันที่ 13-17 ต.ค. ให้ระวังฝนตกหนักและปริมาณฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย  เพราะถ้ามีน้ำมาก แหล่งน้ำท่าที่มีอาจรองรับไม่ไหว หลากท่วมทำความเสียหายได้ ส่วนทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ให้ระวังหลบหลีกอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง พร้อมกับดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นฟ้าฉ่ำฝนแทบทุกวัน บางแห่งเกิดน้ำท่วมฉับพลัน แต่โดยรวม ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพื่อกักเก็บมีน้อยนิด กรมชลประทาน สรุปฟันธงมาแล้วว่า ใกล้สิ้นฤดูฝนแล้ว แต่น้ำในเขื่อนต่าง ๆ ยังมีน้อย  จึงวางแผนจัดสรรน้ำในพื้นที่ท้ายเขื่อน ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ให้ใช้อย่างเพียงพอ เน้นเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก  ภาคการเกษตรจะส่งน้ำได้บางพื้นที่ ที่มีปริมาณน้ำเพียงพอเท่านั้น  จึงขอให้ประชาชนพื้นที่ท้ายเขื่อนแต่ละแห่ง ติดตามสถานการณ์ และการแจ้งแผนการจัดสรรน้ำจากเจ้าหน้าที่ประจำโครงการฯอย่างใกล้ชิด ทุกฝ่ายควรยอมรับว่า แล้งนี้ มีแต่ความอัตคัด ต้องประหยัดและวางแผนการใช้น้ำร่วมกันให้ดี  ไม่ควรมีกรณีพิพาทบาดหมางแย่งน้ำกัน กรมชลประทานและหน่วยงานท้องถิ่น ควรประสานเสียง สื่อสารกับชาวบ้านเกษตรกรให้ทั่วถึงแท้จริง  เพื่อเข้าใจในทางเดียวกัน แล้งนี้ ของจริง!!. หยาดน้ำฟ้า

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : หนาวเหนือ-ใต้ระวัง – รู้หลบ

Posts related