เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับโครงการลงทุนเมกะโปรเจคท์ตามยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย ซึ่งล่าสุดกระทรวงคมนาคมระบุแล้วว่าอาจต้องใช้เงินลงทุนตั้งแต่ปี 58-65 เกิน 3 ล้านล้านบาท เพื่อพลิกโฉมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค  ในรายละเอียดยุทธศาสตร์ยังมีความชัดเจนว่าจะใช้เวลาเพียง 8 ปีเท่านั้น จากเดิมที่เตรียมขยายเป็น 10 ปี เพราะรัฐบาลเห็นว่าเป็นโครงการที่จำเป็นต้องทำเร่งด่วน ซึ่งจะเริ่มลงทุนก้อนแรกในปี 58 ก่อน 6.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่ภาพรวมการลงทุนจะเน้นไปที่ระบบรางกว่า 2 ล้านล้าน หรือเกิน 60% ของงบลงทุนทั้งหมด รองลงมาก็เป็นการลงทุนถนน ทางอากาศ และทางน้ำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้   พัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง เริ่มจากการลงทุนระบบรางจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ที่จะลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.6 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนารถไฟขนาดราง 1 เมตร จากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ ระยะเร่งด่วนปี 58 จำนวน 6 เส้น รวม 903 กม. วงเงิน 129,308 ล้านบาท ได้แก่ ฉะเชิงเทรา-คลอง19-แก่งคอย (106 กม.) วงเงิน 11,272 ล้านบาท ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น (185 กม.) วงเงิน 26,007 ล้านบาท  ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร (167 กม.) วงเงิน 17,292 ล้านบาท ลพบุรี-ปากน้ำโพ (148 กม.) วงเงิน 24,842 ล้านบาท มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (132 กม.)วงเงิน 29,855 ล้านบาท และนครปฐม-หัวหิน (165 กม.) วงเงิน 20,038 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอีก 8 เส้นทาง  ระยะทาง 1,626 กม. ที่จะศึกษาในปี 58 ได้แก่ เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 90 กม. ปากน้ำโพ-เด่นชัย 285 กม. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 309 กม. ขอนแก่น-หนองคาย 174 กม. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี 167 กม. สุราษฎร์ธานี-สงขลา 339 กม. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ 45 กม. และเด่นชัย-เชียงใหม่ 217 กม. ซึ่งหากทำครบ 14 เส้นทางจะทำให้ไทยมีรถไฟทางคู่เพิ่มอีก 2,529 กม. นอกจากการทำรถไฟทางคู่แล้ว ยังจะมีการลงทุนรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ความเร็ว 180 กม. ต่อชั่วโมง เป็นลักษณะรถไฟฟ้ากึ่งความเร็วสูง ที่จะใช้วิ่งเชื่อมเมืองขนส่งคนและสินค้าตั้งแต่หนองคาย-กรุงเทพฯ–ระยอง และเชื่อมต่อกับประเทศจีน-ลาว-ไทยด้วย แบ่งการลงทุนเป็น 3 ช่วง ได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และนครราชสีมา-มาบตาพุด  ระยะทาง 512 กม. กรุงเทพฯ-ระยอง 193 กม. และนครราชสีมา-หนองคาย 355 กม. รวมระยะทาง 1,060 กม. โดยเริ่มศึกษาได้ปี 58 ก่อสร้างปี 60 และเสร็จปี 62-63 หลังจากนั้นยังมีแผนสร้างเส้นทางลงใต้กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ และกรุงเทพฯ-เชียงใหม่อีก    พัฒนาโครงข่ายรถไฟในเมืองหลวง ถัดมาเป็นการพัฒนาโครงข่ายระบบรางในเมือง มีแผนสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 10 เส้นทาง รวม 464 กม. ลงทุนมากกว่า 4-5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย เส้นทาง มธ.รังสิต-มหาชัย (80.8 กม.) ศาลายา-หัวหมาก (48 กม.) ยศเส-บางหว้า (15.5 กม.) บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ(42.8 กม.) ลำลูกกา-บางปู (66.5 กม.) แคราย-มีนบุรี (36 กม.) บางซื่อ-ท่าพระ-พุทธมณฑล สาย 4 (55 กม.) แอร์พอร์ตลิงค์ดอนเมือง-พญาไท (50.3 กม.) ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (37.5 กม.) 8 และลาดพร้าว-สำโรง (30.4 กม.)โดยโครงการทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างได้ปี 58-60 และทยอยเสร็จตั้งแต่ปี 60-64   พัฒนาระบบขนส่งทางถนน  ด้านระบบถนน จะใช้เงินลงทุนตลอด 8 ปี เกินกว่า 4 แสนล้านบาท มีโครงการสำคัญ เช่น การขยายทางหลวงเป็น 4 ช่องทางจราจร เริ่มปี 58-61 ได้แก่ กบินทร์บุรี-วังน้ำเขียว ตอน 3 ระยะ 15.51 กม. วงเงิน 1,600 ล้านบาท กบินทร์บุรี-ปักธงชัย 3 กม. 1,379 ล้านบาท กระบี่-ห้วยยอด 16.45 กม. วงเงิน 600 ล้านบาท บ้านบึง-บ้านค่าย 18.63 กม. 670 ล้านบาท บางปะกง-ฉะเชิงเทรา 3.25 กม.220 ล้านบาท การพัฒนาทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ได้แก่ โพนพิสัย-บึงกาฬ ตอน 1 (30 กม.) วงเงิน 1,200 ล้านบาท ตาก-แม่สอด ตอน 3 (25.50 กม.) วงเงิน 1,400 ล้านบาท กาฬสินธุ์-สมเด็จ (11 กม.) วงเงิน 470 ล้านบาท ตราด-หาดเล็ก ตอน 2 (35 กม.) วงเงิน 1,400 ล้านบาท นอกจากนี้ยังสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด 32 กม.วงเงิน 16,700 ล้านบาท รวมถึงการจัดหารถโดยสารเอ็นจีวีให้กับ ขสมก. อีก 3,183 คัน 13,162  ล้านบาท ซึ่งทยอยรับรอบแรกได้ 489 คัน ในเดือน เม.ย.ปีหน้า   พัฒนาระบบขนส่งทางอากาศ สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถทางอากาศ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1.3 แสนล้านบาท โครงการใหญ่สุดเป็นการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิปี 58-61 เพื่อเพิ่มความจุผู้โดยสารจาก45 ล้านคนต่อปี เป็น 65 ล้านคน ใช้เงินลงทุนกว่า 79,000 ล้านบาท อาทิ การสร้างทางวิ่งสำรองด้านทิศตะวันตก 16,100 ล้านบาท งานระบบพื้นที่ปฏิบัติการด้านการบิน 40,745 ล้านบาท งานอาคารที่พักผู้โดยสารอเนกประสงค์ 7,405 ล้านบาท และงานระบบสาธารณูปโภค 2,693 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีแผนปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง ในส่วนตัวอาคารอีก 15,000 ล้านบาท ให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 18.5 ล้านคนต่อปี เป็น 30 ล้านคน การปรับปรุงท่าอากาศยานภูเก็ต ด้วยการเพิ่มทางขับ 1 เส้น เพิ่มหลุมจอดเป็น 21 หลุม รองรับผู้โดยสาร 12.5 ล้านคน ในปี  58  และสร้างอาคารผู้โดยสารชั่วคราวเพิ่มในปี 61 อีก 2,851 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีแผนลงทุนพัฒนาสนามบินแม่สอด จ.ตาก การปรับปรุงสนามบิน จ.กระบี่ สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี ให้ใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้เพิ่มเติม   พัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ ส่วนการลงทุนทางน้ำ จะมีการพัฒนาทั้งทางทะเลและแม่น้ำ วงเงินรวม 76,666 ล้านบาท โดยโครงการเร่งด่วนปี 58-60 ได้แก่ การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่งแหลมฉบัง ความยาวหน้าท่า 125 เมตร และ 120 เมตร วงเงิน 1,864 ล้านบาท การพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบังระยะแรก 2,944 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก ทำแนวป้องกันตลิ่งเพื่อพัฒนาร่องน้ำทางเรือเดิน (ระยะที่ 1) 2,220 ล้านบาท สำหรับขั้นตอนการจัดทำเมกะโปรเจคท์หลังจากนี้ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ระบุว่า “ต้องรอสรุปขั้นสุดท้ายก่อน เพราะยังมีอีกบางโครงการที่ต้องปรับรายละเอียด แต่ตั้งใจจะทำรายละเอียดทั้งตัวโครงการ วงเงิน ที่มาของแหล่งเงิน ให้เสร็จเป็นแผนปฏิบัติการก่อนวันที่ 10 พ.ย.นี้ เพื่อส่งให้ ครม.อนุมัติได้ในกลางเดือนเดียวกัน หากผ่านก็จะเดินหน้าการลงทุนได้ทันที”  แต่ในความเป็นจริงแม้โครงการจะผ่านไฟเขียวจาก ครม.แล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาลจะลืมไม่ได้ คือการตอบข้อสงสัยจากสังคมให้เคลียร์ เพราะยิ่งโครงการนี้ใช้เงินถึง 3 ล้านล้าน มากกว่าโครงการของรัฐบาลชุดก่อน 2 ล้านล้านที่ถูกโจมตีเละเทะ ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลต้องทำการบ้านหนักกว่าเดิม เพื่อชี้แจงให้ได้ว่า ตัวเงินที่มากกว่ามีความจำเป็น และคุ้มค่าแค่ไหน ที่มาของแหล่งเงิน ภาระหนี้สินและความโปร่งใสในการลงทุนเป็นอย่างไร เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ไม่แพ้โครงการสวยหรูที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน.  ทีมข่าวเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : เปิดแผนยุทธศาสตร์ 3 ล้านล้าน เมกะโปรเจคท์พลิกประเทศไทย

Posts related